“พิสมัย ศรีพุทธรินทร์” ครูผู้สร้าง “เยาวชนจิตอาสา” พัฒนาการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม “ดนตรี” และ “ยุวกาชาด”

ข่าวทั่วไป Friday June 29, 2012 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ไอแอมพีอาร์ เพราะการขาด “จิตสาธารณะ” ของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง อย่างมากมาย ดังที่จะเห็นจากการข่าวสารต่างๆ ของบ้านเมืองที่ถูกนำผ่านสื่อทุกแขนงไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยปัญหาดังกล่าว “ครูพิสมัย ศรีพุทธรินทร์” จาก โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝัง “คุณธรรมและจริยธรรม” ในตัวลูกศิษย์เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้าง “คนดี” และ “สังคมดี” ผ่านรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อชุมชนมาอย่างยาวนานจนได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัล “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ปัจจุบัน “ครูพิสมัย” ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ รับผิดชอบการสอนวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นอกจากนี้ยังดูแลการจัดกิจกรรมยุวกาชาดให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยในกลุ่มสาระวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ได้นำรูปแบบการสอนที่เน้นการปฏิบัติหรือ “Group Investigation Model” ของ “John Dewey, 1859” ที่มุ่งพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาผสมผสานแนวทาง “พี่สอนน้อง” มาใช้ในการสอนเด็กๆ “การเรียนการสอนตามแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นในการเรียนดนตรีเด็กก็จะต้องได้ฝึกปฏิบัติ และจะมีขั้นที่สำคัญมากอยู่ขั้นหนึ่งคือขั้นที่ 5 ที่ให้คนอื่นๆ สามารถวิพากษ์แสดงความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การที่เขาจะเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคต คือต้องกล้าพูด กล้าแสดงออก ให้ข้อเสนอแนะต่อคนอื่นได้ และคนที่ได้รับการวิพากษ์ก็ต้องใจกว้างยอมรับและนำไปปรับปรุง” ครูพิสมัยกล่าว โดยในจัดการเรียนรู้วิชาดนตรีพื้นบ้านจะเริ่มจากการทำกิจกรรม “Brain Gym” ด้วยการร้องเพลง “ก๊อกน้ำ” พร้อมทำนิ้วมือประกอบท่าทาง หลังจากนั้นก็จะแบ่งกลุ่มเด็กออกตามจำนวนของเครื่องดนตรีที่จะเรียนรู้ในวันนั้น พร้อมเชิญนักดนตรีซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นพี่จากชมรมดนตรีพื้นบ้านให้นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาสาธิตการเล่นทีละชิ้น โดยให้นักเรียนได้แสดงความคิดว่าเคยเห็นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ที่ไหน ใช้ในโอกาสใด และมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ฟังเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นดังกล่าว หลังจากนั้นก็จะแยกกลุ่มกันไปฝึกการเรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ กับรุ่นพี่ สำหรับเครื่องดนตรีบางชิ้นที่อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ก็จะเน้นให้ฝึกทำท่าทางการแสดงและเลียนเสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นไปก่อนในเบื้องต้น แล้วก็จะกลับเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้งในห้องเรียนเพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงผลงานการนำเสนอของแต่ละกลุ่มผ่านเพลง “มาร้องเพลงกันเถิดนะจ๊ะ” “คำว่า Group คือกระบวนการกลุ่ม ทำให้เด็กได้มีส่วนร่วม เกิดความรักความสามัคคี แล้วพี่ที่มาสอนก็เป็นลักษณะว่าส่งเสริมจิตอาสา มีความเสียสละ รู้จักให้แก่คนอื่น ให้ความรู้ถ่ายทอดแก่น้องๆ และเกิดความผูกพัน แล้วน้องๆ ก็จะเกิดไอดอลขึ้นมา เห็นพี่เล่นได้ แสดงได้ สอนเราได้ เราก็อยากเป็นอย่างพี่” ครูพิสมัยเล่าถึงข้อดีของการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้เด็กๆ เกิดความสนใจและเล่นดนตรีได้เร็วขึ้น ด้าน นางสาวรัตติยา ถูระวรรณ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.อำนาจเจริญ กล่าวถึงรูปแบบการสอนในกลุ่มสาระวิชาศิลปะ โดยเฉพาะในเรื่องของดนตรีพื้นบ้านของครูพิสมัยว่า เป็นวิธีการการสอนที่ยึดตัวเด็กเป็นผู้เรียน ที่ช่วยสร้างเจตคติที่ดีให้นักเรียนได้ภูมิใจในเครื่องดนตรีท้องถิ่น “เพราะว่าเด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจ และการใช้พี่สอนน้องก็จะมีความเป็นกันเอง เด็กก็จะกล้าซักถามรุ่นพี่มากกว่า นอกเหนือจากเวลาที่สอนปกติเขาก็จะสามารถที่จะนัดกับพี่ๆ ที่เขาสนใจเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ วิธีนี้ที่จะทำให้เด็กได้สามารถที่จะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นที่เขาสนใจได้จริงๆ ซึ่งน่าจะเป็นแห่งเดียวในจังหวัดที่จัดการสอนลักษณะนี้” นางสาวรัตติยาระบุ ในส่วนของกิจกรรมยุวกาชาด “ครูพิสมัย” ได้ออกแบบกิจกรรมโดยจัดทำเป็น “โครงงานยุวกาชาดน้อยตามรอยสมเด็จพระอาจารย์” นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนปกติ เพื่อปลูกฝัง “จิตสาธารณะ” ให้กับเด็กนักเรียนในการดูแลเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสในชุมชน จนผลงานของเหล่ายุวกาชาดน้อยเหล่านี้ได้รับรางวัลในระดับประเทศ และกลายเป็น Best Practice ของโรงเรียนแห่งนี้ “คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของยุวกาชาดมีหลายข้อ แต่มีข้อหนึ่งก็คือเสียสละเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และการมีจิตสาธารณะ จึงให้ยุวกาชาดเหล่านี้ทำโครงงานยุวกาชาดน้อยตามรอยสมเด็จพระอาจารย์ ซึ่งหมายถึงสมเด็จพระพี่นางฯ โดยฝึกให้เขามีจิตสาธารณะ รู้จักไปช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าจิตสาธารณะเพราะเห็นว่าปัจจุบันนี้สังคมยังขาดสิ่งเหล่านี้มาก ปัญหาจึงเกิดขึ้นเยอะ” ครูพิสมัยระบุ นายรัฐมนูญ เพชรโปรี ตัวแทนศิษย์เก่าเล่าให้ฟังว่ารู้จักกับครูพิสมัยมานานกว่า 16 ปี ตั้งแต่เป็นเรียนหนังสือและทำงานในปัจจุบัน โดยในสมัยเรียนครูพิสมัยจะเน้นการเรียนการสอนแบบเรียนปนเล่นโดยใช้เกมส์และกิจกรรม ทำให้แต่ละวิชาที่เรียนเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ “จากที่สัมผัสและอยู่ใกล้ชิดกันคุณครูเป็นคนที่ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย มีความเอื้ออาทรต่อลูกศิษย์และเพื่อนครูในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ได้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตจนเกิดผลสำเร็จที่ทำให้เพื่อนร่วมงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายรัฐมนูญกล่าว ซึ่งการได้รับรางวัล “ทุนครูสอนดี” จาก สสค. นั้น “ครูพิสมัย” ตั้งใจไว้ว่าจะนำไปใช้ในการต่อยอดขยายผลในการพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้าง “จิตสาธารณะ” ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไม่เฉพาะในโรงเรียนของตนเองเท่านั้น แต่จะทำงานผ่านการสร้างเครือข่ายครูในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติขยายผลในโรงเรียนของตัวเอง เพราะปัจจุบันครูส่วนใหญ่มักจะมองกันที่ผลสัมฤทธิ์ว่าทำอย่างไรเด็กนักเรียนจะได้คะแนนในวิชาต่างๆ สูงขึ้น แต่เป้าหมายของโครงการนี้ก็คือทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเป็นคนดีและมีความสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของคนไทยในอดีต “เรื่องผลสัมฤทธิ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกอันหนึ่งที่อยากให้เกิดก็คือให้เด็กมีความสุข ให้เด็กเป็นคนดี เพราะในกระบวนการกลุ่มจะส่งเสริมในส่วนเหล่านี้ จะเห็นว่าเด็กได้แสดงออกอย่างมีความสุข มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และทำให้เขาเป็นคนดีก็คือรู้จักเอื้อเฟื้อต่อกลุ่ม มีความรักความสามัคคี อันนี้นอกจากผลสัมฤทธิ์ที่เป็นคะแนนแล้วเราจะได้ในส่วนนี้ที่สำคัญที่สุด” ครูพิสมัยสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ