คนอุบลฯร่วมกำหนดอนาคตตนเอง ฮ่วมเฮ็ด ฮ่วมส่าง “อนาคตอุบลใน ๑๐ ปี”

ข่าวทั่วไป Friday August 31, 2012 18:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เมื่อ วันที่ 30 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นปฏิรูปประเทศไทย...ปฏิรูปอุบล ฮ่วมเฮ็ด ฮ่วมส่าง “อนาคตอุบลใน ๑๐ ปี” ณ ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร ตึกอธิการบดีหลังใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม ประมาณ 60 คน ซึ่งการจัดเวทีครั้งนี้ถือเป็นเวทีแรกในการระดมความคิดเห็นต่อเวทีปฏิรูป ประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้แบ่งการจัดประชุมทั้งหมดออกเป็น 4 โซน โดยครั้งนี้เป็นการจัดเวทีของโซนที่ 3 ที่ประกอบไปด้วยอำเภอวารินชำราบ สำโรง สว่างวีระวงศ์ พิบูลมังสาหาร โขงเจียมและสิรินธร ในช่วงเช้า ดร.สุรศักดิ์ บุญเทียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป ได้บรรยายในหัวข้อ “ทำไมต้องปฏิรูป” โดยได้กล่าวถึง การออกแบบการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ โดยการจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเองและวาง แผนว่าอนาคตอยากให้พื้นที่ตนอยู่เป็นอย่างไร เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ประชาชนอยากได้ ซึ่งจะเรียกว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการอนาคตอุบลในอีก 10 ปี ซึ่งแผนที่จะเกิดนั้นจะต้องมาจากความต้องการร่วมกันของทั้งภาคเอกชนธุรกิจ ภาคประชาชนและภาครัฐ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จที่เรียกว่า ธรรมนูญประชาชน โดยได้ยกตัวอย่างจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีตัวแทนคณะทำงานมาเล่าให้ฟังถึงวิธีการทำงาน โดยมีนายสัตพร ศรีสุวรรณ จากขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เล่าถึงกระบวนการทำงานว่าจะต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งและให้คณะทำงานลง พื้นที่ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกชุมชน ซึ่งในแต่ละชุมชนก็ได้มีการสร้างแกนนำอย่างน้อย 5 คนและได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดอำนาจเจริญเต็มพื้นที่ทั้ง หมด 63 ตำบล ในการทำงานได้ยึดเอาหลักวิถีภูมิปัญญาชุมชนเป็นที่ตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับ การดำเนินชีวิตของทุกคน จากนั้นก็ได้นำข้อมูลจากพื้นที่มาวิเคราะห์และมีนักวิชาการจากหลาก หลายมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเพื่อนำข้อเสนอมายกร่างและในที่สุดคนอำนาจเจริญก็ได้ประกาศใช้ธรรมนูญของจังหวัดตนเองโดยเป็นธรรมนูญที่ประชาชนทำเอง นายสมเกียรติ พ้นภัย ตัวแทนจากอำเภอโขงเจียมกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามเพื่อทำให้เกิดสภาองค์กรต่างๆจากหลายๆหน่วยงาน แต่ก็ถือว่ายังทำงานไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตนมองว่า ถ้าจะมีการพัฒนาหรือทำแผนอะไรสักอย่างให้ดีจำเป็นจะต้องทำความสะอาดเรื่อง เก่าๆให้ดีก่อน ซึ่งอุบลราชธานีมีปัญหาต่างๆทับถมอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสังคม เช่น ยาเสพติด หรือปัญหาคอรัปชั่นและที่สำคัญปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาของรัฐ เช่น การละเมิดสิทธิ์เรื่องการจัดการทรัพยากร เช่น กรณีการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดไปจากพื้นที่ ดังนั้นถ้าจะทำความสะอาดจำเป็นจะต้องปัดกวาดของเก่าๆออกก่อน นายทศพล ไกรพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนจากตำบลเมืองศรีไค ก็ได้แสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของหน่วยงานรัฐได้เน้นเฉพาะเรื่องเอกสาร ซึ่งตนเป็นผู้ใหญ่บ้านจะรู้ดีว่า ในแต่ละวันจะต้องหมดเวลากับการกรอกข้อมูลหรือการทำรายงานมากแค่ไหน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากกลไกการทำงานของหน่วยงานรัฐที่อยากจะเห็นแต่ข้อมูล ดังนั้น ถ้าจะให้ดีการทำงานจะต้องให้น้ำหนักกับการทำงานในพื้นที่ให้มากๆไม่ใช่อ้าง ว่าติดแต่ระเบียบราชการหรือข้อกฎหมายจนไม่สามารถดำเนินงานต่างๆที่ประชาชน ต้องการได้ จากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นหัวข้อต่างๆเพื่อระดมข้อมูล ความต้องการที่เกิดจากประชาชนที่เข้าร่วมในเวที ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นด้านการเกษตร ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การศึกษาและสังคม การเมืองการปกครอง สุขภาพและประเด็นอื่นๆที่นอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวมา ซึ่งข้อมูลจากเวทีที่ได้ในวันนี้จะได้นำไปรวมกับอีก 3 เวทีที่เหลือ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลว่าสิ่งที่ประชาชนคนอุบลมุ่งหวังคืออะไร เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอผ่านนโยบายจังหวัดที่จะเสนอนโยบาย ต่อรัฐบาลต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ