บทความ: เตือนไว้...งดดื่มก่อนขึ้นรถ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 18, 2012 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ไดเร็คชั่น แพลน จากข่าวสารที่เราได้ยินหรือได้ฟังกันทุก ๆ วันนั้นจะพบว่าข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์มักจะเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งเหตุการณ์แต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยต่างกันไป และสาเหตุในอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุก็คือมาจาก “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่และสงกรานต์ที่ต้องมีการเดินทางของผู้คนมากขึ้นเป็นสองเท่า ผลก็คือทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท เพื่อรณรงค์ไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ และเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ เราทุกคนคงรู้จัก “กฎหมายห้ามดื่มเครื่องแอลกอฮอล์แล้วขับขี่รถยนต์” กันดี แต่เชื่อว่าอาจมีหลายคนที่ยังไม่ทราบว่าขณะนี้มีข้อบังคับล่าสุดคือ “ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท” พูดง่าย ๆ ก็หมายความว่าไม่ว่าจะขับหรือจะโดยสาร ไม่ว่าจะนั่งรถตู้ รถทัวร์ รถเหมา รถแท็กซี่ หรือนั่งท้ายรถกระบะก็ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด กฎหมายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 31 (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ คำว่า “ทาง” และ “รถ” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า “ทาง” และ “รถ” ตามกฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หมายเหตุ 1) คำว่า ทาง ตามพระราชบัญญัติจราจร หมายความว่า ทางเดินรถ ช่องเดินรถ ช่องเดินรถประจำทาง ไหล่ทาง ทางข้าม ทางร่วมทางแยก ทางลาด ทางโค้ง สะพาน และลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางส่วนบุคคลที่เจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้ในการจราจร หรือเจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศให้เป็นทางตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่ไม่รวมไปถึงทางรถไฟ และ 2) รถ หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิดเว้นแต่รถไฟและรถราง สำหรับใครที่ทำผิดกฎหมายนี้จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ผู้ที่ขับขี่หรือขณะโดยสารรถทุกประเภทต้องพึงระวัง เพราะหากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที ทว่าหลายคนคงแปลกใจว่าทำไมถึงต้องห้ามผู้โดยสารดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ด้วย นั่นน่าจะเป็นเพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือว่าผู้โดยสาร เมื่อดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์มักจะเกิดความคึกคะนอง แม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่ดื่มแต่ผู้โดยสารดื่มก็อาจไปรบกวนผู้ขับขี่จนไม่มีสมาธิในการขับยานพาหนะ จนอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ “เมาไม่ขับ” ได้ขยายมาเป็น “ขึ้นรถงดดื่ม” ไม่ว่าจะจะขับขี่หรือแค่โดยสารก็ตาม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.gearmag.info หรือที่ http://www.facebook.com/gearmag#!/gear.mag.7
แท็ก ข่าวสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ