ปภ.กำหนดมาตรการเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง เน้นจ้างแรงงานในพื้นที่ จัดโซนนิ่งเพาะปลูกพืช พร้อมควบคุมโรคระบาด

ข่าวทั่วไป Tuesday March 12, 2013 18:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดำเนินมาตรการบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในระยะเร่งด่วน โดยส่งเสริมการจ้างแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกตามฤดูกาลและช่วงเวลาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงควบคุมและป้องกันโรคระบาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูแล้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ได้ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ โดยขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 37 จังหวัด 378 อำเภอ 2,636 ตำบล 26,107 หมู่บ้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจาก ภัยแล้งจึงได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางบูรณาการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในระยะเร่งด่วนห้วง 90 วัน (15 ก.พ. — 15 พ.ค.56) ซึ่ง ปภ. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้งในระยะเร่งด่วน โดยประสานกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ส่งเสริมการจ้างแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและจ้างเกษตรกรเป็นแรงงานในโครงการ แก้ไขปัญหาภัยแล้งของภาครัฐ เช่น การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล การขุดลอกคูคลอง การจัดทำฐานรองถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และทนต่อสภาพอากาศแห้งได้ดี โดยจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรตามฤดูกาล และกำหนดช่วงเวลาในการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ปภ.ยังได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพื่อควบคุมและป้องกันโรคระบาดในช่วงฤดูแล้ง มิให้ซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ