เสวนา : เมืองดี๊ดี บทเรียนการสร้างเมืองสุขภาวะจากญี่ปุ่นสู่ไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday May 8, 2013 16:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.-- ในงานสถาปนิกปี 56 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย — 5 พ.ค. ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี นอกจากจะมีการจัดบูธแสดงนวัตกรรม และสินค้าจากบริษัทต่างๆแล้ว ยังมีกิจกรรมการเสวนาเรื่อง เมืองดี๊ดี บทเรียนการสร้างเมืองสุขภาวะจากญี่ปุ่นสู่ไทย โดยบนเวทีเสวนาได้เชิญ 3 วิทยากร ที่เชี่ยวชาญในการวางแผนและสร้างเมืองสุขภาวะ บรรยายถึงการพัฒนาเปลี่ยนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองสุขภาวะตามต้นแบบจากเมืองคะชิวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเวทีเสวนามี ศ.ดร.อัทสึชิ เดกุจิ หัวหน้าศูนย์ออกแบบเมืองคะชิวะ มหาวิทยาลัยโตเกียวที่เล่าถึงการสร้างเมืองใหม่ในประเทศญี่ปุ่นว่า ที่เมืองคะชิวะ ในประเทศญี่ปุ่นนั้น แต่เดิมเป็นพื้นที่โล่งที่มีคนอาศัยเพียง 26,000 คน แต่ด้วยความร่วมมือกันของภาคีทั้งรัฐบาล เอกชน และภาควิชาการ พัฒนาพื้นที่เปล่าให้เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเมืองนี้ถือเป็นโมเดลให้ประเทศญี่ปุ่นในการใช้พัฒนาต่อไป โดยในปี 2006 ได้จัดตั้ง UDCK (Urban design center Kashiwa-no-ha) เป็นการดีไซน์พื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมต่างๆให้กับประชาชน ทั้งสร้างถนนใหม่ที่โดยรอบมีแต่ต้นไม้ มีตลาดนัดผักสด เพื่อส่งเสริมการค้าภายในนพื้นที่ และยังมีสตูดิโอการเรียนรู้ให้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ได้เข้าไปค้นคว้า ในเมืองยังมีการสนับสนุนให้ใช้จักรยาน และรถไฟฟ้าเป็นหลักอีกด้วย ทั้งนี้ศ.ดร.อัทสึชิ ยังให้ความเห็นแก่เมืองไทยว่า “เมืองไทยเป็นประเทศที่สวยงาม และมีชื่อเสียงในเอเชีย โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือพัฒนา ในการเปลี่ยนแปลงเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตให้ความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ตามแบบเมืองคะชิวะ” ด้าน ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าศูนย์วิจัยเมืองสุขภาวะ บรรยายว่า “เมืองอย่างกรุงเทพฯควรมีการปรับปรุงในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องของสภาพแวดล้อม ทั้งด้านสุขภาวะ,สิ่งแวดล้อม,ที่อยู่อาศัย และการขนส่งคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ก่อนจะไปพัฒนาเรื่องใหญ่เรื่องอื่น โดยการเสริมสร้างสุขภาวะเมืองไม่ใช่การสร้างแบบให้ประชาชนปรับตัวเข้าหามาตรฐานกลาง แต่ต้องปรับมาตรฐานไปตามประชาชนแต่ละกลุ่ม” ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้บรรยายสรุปถึงการวางแผนการสร้างเมืองว่า พื้นที่ในกรุงเทพฯยังมีพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างไว้อยู่มาก ทั้งบริเวณใต้ทางด่วน ลานกว้างหรือโกดังต่างๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ตามเมืองต่างๆในต่างประเทศสร้างห้างสรรพสินค้าใต้ทางด่วน สร้างสวนสาธารณะจากพื้นที่ร้างอยู่ริมน้ำ หรือสร้างโกดังเก่าให้เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น แต่อุปสรรคหลักในการฟื้นฟูเมือง คือ ขาดกลไกในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ข้อมูลโครงการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้สาธารณะชนได้เข้าใจและมองเห็นถึงผลลัพธ์จากโครงการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองต่างๆ ซึ่งกลไกพัฒนาเมืองนั้นมีการวางแผน ให้คำปรึกษา บริการออกแบบวางผัง และประสานเพื่อผลักดันสู่การปฎิบัติ โดยเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมผังเมือง โดยต้องมีการร่วมทดลองนวัตกรรมไปในสังคมด้วย ซึ่งต้องมีการจัดประชุมทางวิชาการเชิงปฎิบัติการระดับนานาชาติอยู่เป็นระยะๆ ควบคู่ไปกับสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคียุทธศาสตร์ “คณะทำงานได้เริ่มฟื้นฟูจากย่านประวัติศาสตร์ของเมือง ซึ่งตอนนี้เรากำลังฟื้นฟูย่านกะดีจีน ให้เป็นย่านที่มีสุขภาวะที่ดี และให้เป็นที่ท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไป มีเลนจักรยานริมน้ำ และสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้ เพราะเป็นชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี หลังจากนี้เราต้องพัฒนาชุนชนอื่นๆไปเรื่อยๆ แต่ต้องมีความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย เพื่อจะได้ประสบผลสำเร็จ เมืองหลวงของเราจึงจะได้เป็นเมืองสุขภาวะเหมือนประเทศอื่น” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ