ฟิลิปป์ ฮอลซ์แมน (ไทย) อินเตอร์เนชั่นแนลยอมความคดีละเมิดซอฟต์แวร์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday July 16, 1998 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ก.ค.--กลุ่มพันธมิตรซอฟท์แวร์
บริษัทฟิลิปป์ ฮอลซ์แมน (ไทย) อินเตอร์เนชั่นแนล ตกลงยอมความและจะให้ความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ในการดำเนินโครงการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หลังจากเจ้าหน้าที่กองบังคับคดีสืบสวนสอบสวนเศรษฐกิจ (ส.ศ.ก.) พร้อมกับตัวแทนจากบีเอสเอได้เข้าตรวจค้นระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเลค รัชดา ออฟฟิศ คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2541 และพบสำเนาซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายโปรแกรมนอร์ตัน ยูทิลิตี้ส์ (Norton Utilities) ของไซแมนเท็คและโปรแกรมออฟฟิศ 97 (Office 97) ของไมโครซอฟท์ การเข้าตรวจค้นครั้งนี้ได้เบาะแสมาจากบีเอสเอฮ็อตไลน์ หมายเลข 618-5155 และผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากการสืบสวนของบีเอสเอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฟิลิปป์ ฮอลซ์แมน (ไทย) อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-เยอรมันที่ดำเนินธุรกิจก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นได้แจ้งว่า บริษัทดังกล่าวมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากกว่า 65 เครื่องในสำนักงานใหญ่ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่องต่อเชื่อมเป็นระบบเครือข่ายเฉพาะที่ (เครือข่ายแลน) ในระหว่างการตรวจค้น เจ้าหน้าที่และตัวแทนของบริษัทฯ ได้พบหลักฐานของการละเมิดลิขสิทธ์แบบ soft-lifting ซึ่งหมายถึงการติดตั้งสำเนาซอฟต์แวร์ของสมาชิกบีเอสเอหลายๆ สำเนาอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้แผ่นดิสก์หลักหนึ่งแผ่นหรือใช้แผ่นซอฟต์แวร์ที่ถูกทำสำเนาอย่างผิดกฎหมายร่วมกัน
นายฮิวอี้ ตัน รองประธานบีเอสเอประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ฟิลิปป์ ฮอลซ์แมนยินดีรับผิดและพร้อมที่จะส่งเสริมการกระทำที่ถูกกฎหมาย โดยให้ความร่วมมือกับเราในโครงการต่อต้านซอฟต์แวร์ และร่วมงานกับเราในการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความเสี่ยงของการละเมิดลิขสิทธิ์ เราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้บริษัทอื่นๆ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ติดต่อมาหาเราเพื่อขอคำปรึกษาที่จะช่วยให้พวกเขามั่นใจได้ว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่นั้นถูกกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง”
ฟิลิปป์ ฮอลซ์แมนได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกระบวนการทางกฎหมาย พร้อมทั้งซื้อซอฟต์แวร์ของสมาชิกบีเอสเอตามกระบวนการการทำให้ถูกกฎหมาย ลงนามในหลักจรรยาของบีเอสเอโดยสัญญาว่าจะไม่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในอนาคต และจะดำเนินการตรวจสอบระบบภายในตามคำแนะนำในการบริหารซอฟต์แวร์จากบีเอสเอ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอีกต่อไปนายฮิวอี้ ตัน กล่าวอีกว่า “การตรวจค้นครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ต่อเนื่องที่จัดขึ้นเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยซึ่งเกิดจากความไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรต่างๆ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่บริษัทจะเข้าไปพัวพันกับการทำผิดกฎหมายเช่นนั้น ผมมั่นใจว่าบริษัทที่มีชื่อเสียงไม่ได้คิดที่จะขโมยคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สำนักงานของใครเพื่อมาใช้งานภายในบริษัท และเช่นเดียวกันก็คงไม่คิดที่จะขโมยซอฟต์แวร์ของคนอื่นมาใช้ด้วย”
การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามที่บีเอสเอดำเนินการกับองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่จากส.ศ.ก.และตัวแทนของบีเอสเอได้เข้าตรวจค้นบริษัทต่อเรือที่มีชื่อว่าบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านเพชรพลอยที่ชื่อว่าบริษัทแอ๊ดว๊านซ์ เจมส์ แอนด์ จิวเวลลี่ จำกัด
คดีของเอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของส.ศ.ก. ซึ่งกำลังเตรียมการที่จะฟ้องดำเนินคดีทางอาญากับกรรมการของบริษัทฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนคดีของบริษัทแอ๊ดว๊านซ์ เจมส์ แอนด์ จิวเวลลี่ จำกัดอยู่ในขั้นตอนของศาลอาญา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในการเจรจาเพื่อความร่วมมือกับรัฐบาล และผู้บริโภคในประเทศต่างๆ สมาชิกของบีเอสเออยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก กิจกรรมของบีเอสเอประกอบด้วยการให้ความรู้ในด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมนวัตกรรมและช่วยขยายโอกาสทางการค้า และการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สมาชิกระดับโลกของบีเอสเอประกอบด้วยอะโดบี, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, โลตัส ดีเวลลอปเมนท์, ไมโครซอฟท์, โนเวลล์ และไซแมนเท็ค เป็นต้น ที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของบีเอสเอประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ซึ่งได้แก่ แอปเปิล คอมพิวเตอร์, คอมแพค, ดิจิตอล อีควิปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทูว์ และไซเบส ท่านสามารถติดต่อกับบีเอสเอได้ที่เว็บไซต์ www.nopiracy.com
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์ บริษัทคอมมิวนิเคชั่นส์ คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โทร. 278-5340, 278-0352, 279-8309 แฟ็กซ์. 271-1783 อีเมล์: cci@mozart.inet.co.th-- จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ