สถาบันฯสิ่งทอ ประเดิมเวที AEC หนุนผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โชว์ศักยภาพพร้อมเปิดตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมนำร่อง 16 คอลเลคชั่น อวดโฉมใจกลาง เกาะสิงคโปร์

ข่าวทั่วไป Monday July 1, 2013 10:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หนุนผู้ประกอบการมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดตลาดแฟชั่นเครื่องแต่งกายมุสลิมกว่า 16 คอลเลคชั่น ภายใต้แบรนด์ Lawa@THTI พร้อมร่วมแสดงแฟชั่นโชว์ ตั้งเป้าเปิดตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมไทยสู่การส่งออกในระดับอาเซียน (AEC) ตลอดจนส่งเสริมให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมผ้ามุสลิมแหล่งใหญ่ของอาเซียน ซึ่งมีสิงคโปร์เป็นฐานการกระจายสินค้าหลัก และเป็นประตูสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถแข่งขันในตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมระดับสากลได้ อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์ กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นพัฒนารากฐานความรู้และทักษะของผู้เข้าร่วมโครงการ ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแก่อุตสาหกรรมสิ่งทอในภาคใต้ โดยการแสดงแฟร์ชั่นโชว์ดังกล่าวได้จัดขึ้น ในงาน Thailand Tread Show 2013 ระหว่างวันที่ 19 -23 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์การค้าวีโว่ซิตี้ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีชาวสิงคโปร์ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ให้ความสนใจจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thit.org,www.thaitextile.org/muslim นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยวางกลยุทธ์ พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งด้านการออกแบบพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาด พร้อมมุ่งเน้นพัฒนารากฐานความรู้และทักษะของนักออกแบบเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดยใช้แนวคิดจากประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมภาคใต้ที่สามารถพัฒนาเป็นลวดลายผ้าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ โดยหวังพัฒนอาชีพ สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างบุคลากรเตรียมความพร้อมสู่ตลาด AEC และตลาดสากลซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และอุตสาหกรรมจังหวัด สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์ ดำเนินการฝึกอบรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ภายใต้แบรนด์ Lawa@THTIใน Collection บุหงาสลาตัน ประกอบไปด้วย ดอกไม้ประจำท้องถิ่นจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ดอกกามูติง ดอกดองดึงส์ ดอกชบา ดอกลีลาวดี และดอกรองเท้านารี พร้อมผลักดันสู่ตลาด และหาช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ กิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ด้านเส้นใยทั้งเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างทางเลือกแก่ผู้ประกอบการ ถ่ายทอดความรู้ด้วยเทคโนโลยีด้านการตกแต่งสำเร็จ รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยแบ่งผลงานตามกลุ่มรวม 3 กลุ่มดังนี้ 1. กลุ่มผ้าพื้นเมืองได้แก่ ผ้าเกาะยอ จ.สงขลา มีการนำเอาวัสดุเส้นใย สับปะรด บัวหลวง ฝ้ายสีมาทอร่วมกับด้ายฝ้ายทำให้ผ้าที่ได้มีความแตกต่างทั้งด้านสี และความแข็งแรงของใยผ้าเนื่องจากด้ายสับปะรดมีความแข็งแรงสูง ผ้าจวนตานี จ.ปัตตานี พัฒนาการออกแบบลายทอ รวมทั้งการขึ้นแบบสำหรับชุดแต่งกายสตรี และนำผ้ามาใช้สำหรับทำกระเป๋า 2. กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยการพัฒนาผ้าซึ่งใช้เส้นใยจากธรรมชาติผสมผสานกับการเทคนิคการทอแบบใหม่ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่ม สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่แนบเนื้อซึ่งเหมาะอย่างมากกับเครื่องแต่งกายพิธีการของมุสลิม และการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุที่ทันสมัยผสมผสานกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เช่นเทคนิคการปักฉลุ เทคนิคการพิมพ์ด้วยบล็อกไม้และบล็อกโลหะ ฯลฯ 3. กลุ่มผ้าบาติก พัฒนาผ้าโดยการปรับปรุงเส้นใยด้วยเทคโนโลยี ทำให้สีที่ย้อมติดได้ดีขึ้น เนื้อผ้านุ่มขึ้น พร้อมใช้เทคนิคในการเขียนลาย รวมทั้งพัฒนาผ้าบาติกในกลุ่มสปาและเคหะสิ่งทอ กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้คุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยได้มีการอบรม Train the Trainer แก่กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 5 พร้อมระดมประเด็นปัญหาคุณภาพสิ่งทอในท้องถิ่น เพื่อเตรียมจัดทำคู่มือคุณภาพสิ่งทอเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการยกระดับสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับการการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ นางสุทธินีย์ กล่าวต่อว่าจากการดำเนินงานทั้ง 3 กิจกรรมมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 50 กลุ่ม รวมไม่ต่ำกว่า 350 คนสามารถพัฒนาทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากนวัตกรรมสิ่งทอ ผ่านการออกแบบและถ่ายทอดความรู้จากดีไซน์เนอร์มืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศ รวมทั้งเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลากหลายรูปแบบที่ได้คุณภาพและมาตรฐานรวมกว่า 20 คอลเลคชั่น โดยส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ต้นแบบของโครงการฯ สถาบันฯได้ นำมาเปิดตลาดพร้อมจัดแสดงในงาน Thailand Tread Show 2013 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 — 23 มิถุนายน 2556 ณ ห้างสรรพสินค้า Vivo City ประเทศ Singapore รวม 16 คอลเลคชั่น ภายใต้แบรนด์ Lawa@THTI ซึ่งจะได้ร่วมขึ้นแสดงแฟชั่นโชว์ภายในพิธีเปิดงาน รวมทั้งจัดแสดงแฟชั่นโชว์ตลอดการจัดงานโดยนางแบบจากสิงค์โปร์ โดยคาดว่าภายหลังจากงานนี้ ผลิตภัณฑ์จากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้ประกอบการไทยจะสามารถสร้างฐานลูกค้ามุสลิมในตลาด AEC และขยายฐานไปสู่ตลาดสากลได้ในอนาคต นายมูฮัมหมัดซาเลม แยนา ผู้ประกอบการผ้ามุสลิมในจังหวัดนราธิวาส หนึ่งในผู้ประกอบการที่มาออกงาน ณ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนากระบวนการผลิตผืนผ้ามุสลิมแก่ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อย โดยปรับปรุงกระบวนผลิตให้มีคุณภาพเหมาะแก่การนำมาใช้ตัดเย็บและการออกเป็นเครื่องแต่งกายมุสลิม ด้วยผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำและปรึกษาเชิงลึก พร้อมทั้งมีการฝึกปฎิบัติแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ทำให้เกิดการออกแบบลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การนำเอาลายของดอกไม้ที่มีในท้องถิ่นนั้นๆ มาประยุกต์เป็นลายบนผืนผ้าบาติกทำให้ดูมีลูกเล่นในชิ้นงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการต่อยอดและนำเอาภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกโบราณ มาประประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมธรรมท้องถิ่นนั้นได้อย่างลงตัว รวมทั้งเรื่องของความรู้ความเข้าใจในการจัดหาช่องทางการจำหน่าย โดยโครงการนี้เปรียบเสมือนสิ่งที่มาเติมเต็มองค์ความรู้แบบครบวงจร ทำให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างงานให้และสร้างรายได้ให้กับพี่น้อง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างมาก ด้านนายมูฮัมหมัดอนิส ออสแมนฮอย ผู้ประกอบการธุรกิจผ้ามุสลิมรายใหญ่ในย่านอาหรับสตรีท ประเทศสิงคโปร์ ย่านการค้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดใน สิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันผ้ามุสลิมในตลาดโลก และในตลาดอาเซียนมีความต้องการมาก โดยชาวมุสลิมในอาเซียนเองมีความต้องการในสินค้าประเภทผืนผ้าค่อนข้างมากโดยเฉพาะผ้าไหม และผ้าฝ้ายที่นิยมนำมาทำเป็นผ้าบาติก โดยกลุ่มลูกค้าเป็นคนเชื้อชาติ มาเลย์ ในสิงคโปร์และมาเลเซีย กว่า 60% และอีก 30% เป็นมุสลิมชาวสิงคโปร์ และอีก 10% เป็นชาวอินโดนีเซีย ไทย ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยส่วนใหญ่ในตลาดผ้ามุสลิมของประเทศสิงคโปร์นั้นนิยมนำเข้าผืนผ้ามาจากฝั่งยุโรปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้แก่ประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส แล้วนำมาออกแบบและตัดเย็บในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจาก ผืนผ้าในฝั่งยุโรปมีคุณภาพดีและเหมาะสมที่จะนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายมุสลิม เพราะเส้นใยที่ใช้ทำผืนผ้าที่ผลิตในประเทศยุโรปมีความโปร่งสบาย อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวกไม่กักเก็บความร้อนไว้ที่เนื้อผ้า จึงสามารถคลุมได้อย่างมิดชิดทั่วทั้งร่างกายแต่ระบายอากาศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งคุณภาพการทอเป็นผืนผ้าที่ดีเยี่ยม โดยมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการผลิต ซึ่งทำให้เกิดความพริ้วของตัวผ้า และลวดลายสีสันที่สวยงาม ทำให้เหมาะอย่างมากสำหรับการขึ้นแบบในประเภทชุด Baju kurung datin และ ประเภทชุด Baju kurung ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในกลุ่มชาวมุสลิม ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิมไทย เนื่องจากการนำเข้าผืนผ้าในฝั่งยุโรปนั้นมีค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อรวมกับค่าวัตถุดิบแล้วราคารวมจึงสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมผืนผ้าให้มีคุณภาพเทียบเคียงกับผืนผ้าจากยุโรปได้ โดยการพัฒนากระบวนการผลิตเส้นใย และนำเอานวัตกรรมมาปรับใช้ในการทอ คาดว่าจะสามารถตีตลาดในสิงคโปร์ และตลาดการค้ามุสลิมใน AEC ได้เทียบเคียงกับผืนผ้าจากยุโรปได้อย่างแน่นอน ซึ่งความต้องการผืนผ้าในตลาดสิงคโปร์ปัจจุบันมีการปรับตัวขึ้นกว่า 9-10% ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของประชากรมุสลิมในประเทศสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนกว่า 8.5 แสนคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าการใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้ามุสลิมกว่า 500 ล้านดอลลาห์ต่อปี รวมถึงชาวมุสลิมในต่างประเทศอาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเองก็มักนิยมเข้ามาซื้อผืนผ้าจากประเทศสิงคโปร์กว่า 5 ล้านคน และมียอดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องแต่งมุสลิมในสิงคโปร์ปีล่ะ 716 ล้านดอลล่าห์สหรัฐต่อปี นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้มองเห็นถึงโอกาสอันดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี) ที่เป็นแหล่งผลิตผ้ามุสลิมที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสามารถส่งออกไปขายยังประเทศที่มีความต้องการ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อที่สูงเพื่อเป็นการผลักดันให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการส่งออกและเป็นฐานการผลิตผ้ามุสลิมทั้งในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้ โดยปัจจุบันใน AEC อินโดนีเซียเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิม ซึ่งประเทศไทยต้องสร้างจุดขายด้วยการตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมคุณภาพสูงใน AEC พร้อมเจาะตลาดกลุ่มมุสลิมที่มีกำลังซื้อสูงในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีประชากรมุสลิมรวมทั้งหมดกว่า1.62 พันล้านคน ในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2556 การส่งออกสิ่งทอไทยมีมูลค่า 3,242 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดอาเซียนที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 524.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากที่สุดคือ ผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออก 201.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.34 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในส่วนข้อมูลเครื่องแต่งกายของมุสลิม ประชากรในโลกมุสลิมที่มีจำนวนสูงถึง 2 พันล้านคน คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกซึ่งมีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิมรวมที่ 9.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในอาเซียนมีประชากรมุสลิมกว่า 258 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 4.8 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมกว่า 212 ล้านคน มีมูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิม 5.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในไทยมีประชากรมุสลิม 6.9 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 240 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thit.org,www.thaitextile.org/muslim ติดต่อ: สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 — 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thit.org,www.thaitextile.org/muslim

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ