“บุญเลี้ยง ด่านประจำ” ครูผู้ทิ้งชุดวอร์มมา ร้อง-เล่น-เต้น-รำ ใช้ “กลองยาว” สร้างคนดี นำดนตรีพื้นบ้านพัฒนา “เยาวชน”

ข่าวทั่วไป Friday August 2, 2013 17:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ไอแอมพีอาร์ “โม่ง โม่ง โม่ง ป๊ะ ทึ่ง โม่ง โม่ง โม่ง ฯ” เป็นเสียงการซ้อม “ตีผี” หรือการออกเสียงของการ “ตีกลองยาว” เพื่อซักซ้อมจังหวะพร้อมกับทำท่าทางการตีโดยไม่ต้องมีกลองจริงของเด็กๆจากโรงเรียนธรรมวาทีเมื่อกลับไปที่บ้านหลังเลิกเรียน นั่นคือการบ้านจากคุณครูในวันนี้ ที่ในช่วงพักเที่ยงของวันรุ่งขึ้น พวกเขาจึงจะได้ทดลอง “ตีกลองจริง” “กลองยาวเสริมทรัพย์ โรงเรียนธรรมวาที” เป็นกิจกรรมของ “ครูบุญเลี้ยง ด้านประจำ” ผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสจากปัญหาด้านเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากอบายมุข ด้วยการนำดนตรีพื้นบ้านมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทย พร้อมกับสร้างรายได้ระหว่างเรียน สืบเนื่องจาก โรงเรียนธรรมวาที จังหวัดชลบุรี เป็นโรงเรียนมูลนิธิสงเคราะห์ของเอกชนภายใต้การสนับสนุนจาก “มูลนิธิไตรแก้ว” ที่ร้อยละ 70 ของนักเรียนจำนวนกว่า 1 พันคนมีฐานะยากจน แต่คณะครูและผู้บริหารของโรงเรียนกลับไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ นางอนิษา วัฒนะ ผู้จัดการโรงเรียนธรรมวาที เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่ฐานะที่บ้านของเด็กๆ จะยากจน แต่เมื่อมาที่โรงเรียนพวกเขาก็จะได้รับการดูแล จัดการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพไม่น้อยกว่าโรงเรียนเอกชนแห่งอื่นๆ ด้วยการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดให้กับเด็กๆ ให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ภายในโรงเรียนที่ดี และมีระบบการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ “อย่างน้อยถ้าคุณภาพชีวิตที่บ้านไม่ดี ก็ขอให้เขาได้มาเจอสิ่งดีๆ ที่โรงเรียน ซึ่งกิจกรรมกลองยาวเสริมทรัพย์นั้นทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ไปติดเกมส์ หันมาสนใจเรื่องการเรียน และอยากมาโรงเรียนมากขึ้น เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ต้องไปเที่ยวเตร่ เพราะต้องมาซ้อมหรือออกไปการแสดง ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือมีวินัย มีความรับผิดชอบ และรู้จักหน้าที่ของตัวเองเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ผู้จัดการโรงเรียนระบุถึงข้อดีของกิจกรรมกลองยาว นายบุญเลี้ยง ด่านประจำ อดีตครูพละที่ถอดชุดวอร์มมาเป็นครูสอนศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียน โดยศึกษาหาความรู้แบบครูพักลักจำด้วยตนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีลูกทุ่ง แดนเซอร์ นักร้อง มายากล ดนตรีไทย คาบาเร่ต์ จักรยานล้อเดียว และกลองยาว เพื่อลดปมด้อยเสริมปมเด่น ให้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพของตนเองออกมาในทางที่ดี มีรายได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 1 หมื่นบาทต่อปี และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงของโรงเรียนให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นด้วย “กลองยาวเป็นดนตรีพื้นบ้านที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่จะมองไม่เห็นคุณค่าแล้ว จึงได้นำกิจกรรมกลองยาวมาเป็นสื่อเพื่อให้เด็กๆ ได้ซึมซับและเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทย ประกอบกับเด็กที่มาเล่นกลองยาวจะต้องมีสมาธิ ดังนั้นสมาธิและความตั้งใจที่ได้การจากฝึกซ้อมกลองยาวก็จะช่วยส่งผลในเรื่องของสมาธิในการเรียนด้วย นอกจากนี้เรื่องของจังหวะ การขยับตัว มือ เท้า แขน ขา และท่าทางต่างๆ ประกอบการแสดงยังเป็นการฝึกสมองไปในตัว จากเด็กที่ไม่อยากจะมาโรงเรียน ก็เปลี่ยนไป หลายๆ คนรีบมาโรงเรียนแต่เช้า เพื่อที่จะมาซ้อมกลองในช่วงก่อนเข้าเรียนเพื่อให้จังหวะของตัวเองนั้นแน่นขึ้น” ครูบุญเลี้ยงเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ โดยกิจกรรมกลองยาวเสริมทรัพย์ของโรงเรียนธรรมวาที เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สสค. จึงเกิดการพัฒนารูปแบบในการดำเนินงานอย่างจริงจังมากขึ้น โดยงบประมาณส่วนหนึ่งนอกจากจะใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ให้พร้อมสรรพสำหรับการแสดง ยังจัดให้มีการพัฒนาความรู้และทักษะการตีกลองยาวขั้นสูง เชิญวิทยากรมาสอนการรำล่อหลอกประกอบกลองยาว และให้เด็กๆ ออกแบบและประดิษฐ์ชุดสำหรับคนตีกลองยาว ชุดนางรำ และทำกระโปรงกลอง ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ ทำให้เด็กกว่า 50 คนในคณะกลองยาว และทีมการแสดงโชว์ต่างๆ ของโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงและถูกเชื้อเชิญให้ไปงานแสดงต่างๆ ชนิดที่เรียกว่าคิวแน่นแทบจะทุกเสาร์อาทิตย์ ด.ช.ณรงค์ยศ นุชพันธ์ หรือ “เสก” นักเรียนชั้น ป.4 หนึ่งในทีมกลองยาวของโรงเรียนเล่าว่า การเรียนกลองยาวนั้นจะใช้เวลาในช่วงพักเที่ยง ครั้งละประมาณ 30 นาที โดยใช้เวลาเรียนรู้เรื่องของจังหวะและวิธีการตีในแบบต่างๆ อยู่ประมาณ 3 เดือนก็สามารถตีกลองยาวได้ “การเล่นกลองยาวเป็นกิจกรรมที่สนุก ทำให้มีโอกาสได้ไปเที่ยวเมื่อคณะกลองยาวของโรงเรียนถูกว่าจ้างให้ไปแสดงในงานบวชหรืองานแต่งยังสถานที่ต่างๆ และยังได้เงินเป็นค่าขนมอีกงานละ 100 บาท ในช่วงบวชนาคจะมีงานแน่นทุกเสาร์อาทิตย์ บางวันต้องไปแสดงถึง 3 งานก็มี แต่งานที่ชอบมากที่สุดคืองานบวชนาค เพราะจะได้ไปเก็บเงินโปรยทานกับเพื่อนๆ เพื่อเป็นค่าขนมได้อีก ตอนนี้มีเงินเก็บที่ได้จากการเล่นกลองยาวแล้วประมาณ 2 พันบาท” น้องเสกเล่าด้วยความสุข ด้านนักแสดงนางรำอย่าง ด.ญ.ธีรดา ทับทิม หรือ “สตางค์” นักเรียนชั้น ป.4 เล่าเพิ่มเติมเสริมจากเพื่อนว่า การแสดงนางรำหน้ากลองยาวนั้นเรียนง่ายกว่าการตีกลอง ใช้เวลาฝึกซ้อม 2 สัปดาห์ก็สามารถฟ้อนรำออกงานต่างๆ ได้แล้ว โดยมีค่าแรงในการแสดงเท่ากับมือกลอง “นางรำทุกคนจะต้องรู้จังหวะต่างๆ ของกลอง โดยต้องรำไปตามจังหวะ ดังนั้นนางรำทุกคนจึงตีกลองยาวได้ด้วยเช่นกัน แต่เพราะตัวกลองมีขนาดใหญ่และหนัก ผู้หญิงจึงไม่ค่อยเป็นฝ่ายตีกลอง แต่จะเป็นนักแสดงในเรื่องต่างๆ ทั้งคาบาเร่ หรือมายากล แล้วแต่ความสนใจมากกว่า” น้องสตางค์กล่าว นอกจากกิจกรรมกลองยาวและการแสดงต่างๆ ที่ “ครูบุญเลี้ยง” นำมาใช้เป็นเครื่องมือลดปมด้อยขยายปมเด่น สร้างให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าและศักยภาพของตนเองแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้พวกเขาห่างไกลจากอบายมุขต่างๆ และหันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว “ในเมื่อใจของเขาไม่คิดในเรื่องของการเที่ยวเตร่หรืออบายมุขต่างๆ เขาก็จะไม่ไปฝักใฝ่ เพราะใจของเขาจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่า วันนี้เราตีจังหวะอะไรไปนะ พรุ่งนี้ครูจะต่อเพลงอะไรให้นะ เขาก็จะมาใส่ใจเกี่ยวกับดนตรีหรือกิจกรรมต่างๆ โรงเรียนของเรา และเมื่อเด็กๆ ขยันมาโรงเรียนเขาก็ต้องได้ความรู้แน่นอน แล้วเมื่อเขามีสมาธิเขาก็จะสามารถรับวิชาต่างๆ ที่ครูจะประสิทธิประสาทให้ได้ทั้งหมด และเงินที่ได้จากการแสดงยังสามารถเก็บหอมรอมริบไว้ใช้เมื่อยามขัดสนได้ หรือใช้เป็นทุนการศึกษาเมื่อต้องเรียนในชั้นที่สูงขึ้น” ครูสอนดีกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ