PIM ผนึกกำลัง GISTDA ร่วมพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศชาติและสังคม

ข่าวทั่วไป Monday September 23, 2013 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จับมือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) นำเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ พัฒนาศักยภาพเด็กไทยสร้างผลงานวิจัยต่อยอดธุรกิจในอนาคต สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จีสด้า) ผสานการดำเนินงานร่วมกัน เดินหน้าผนวกหลักการด้านพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กับ PIM สถาบันการศึกษาที่มีความเป็น Corporate University หรือมหาวิทยาลัยโดยองค์กรธุรกิจอย่างเต็มตัว นับเป็นหนึ่งความร่วมมือทางการศึกษาเป็นแห่งแรกในระดับอุดมศึกษาของไทย เพื่อสนับสนุนนำประโยชน์ของข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม มาประยุกต์ให้มีความเอื้อต่อการจัดการด้านการศึกษา บูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในคณะต่างๆ ที่ PIM เปิดสอนอยู่ในปัจจุบัน สำหรับในระยะแรกนี้จะมีความร่วมมือทางด้านการเรียนการสอนกับทางคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร (The Faculty of Innovative Agricultural Management : IAM) ซึ่งโดยหลักสูตรได้เน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่ถูกออกแบบ ในเชิงภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริง (Work-based Learning) รวมถึงให้บริการด้านการศึกษาและวิชาการ เพื่อต่อยอดการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการจัดการเกษตรอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสององค์กร การพัฒนาบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญและความรู้ทางวิชาการ สู่การเป็นนักจัดการการเกษตรแนวใหม่ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้อย่างมืออาชีพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ชุมชน และ สังคม ประเทศชาติต่อไป ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง สทอภ. และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการวิจัยและพัฒนาโดยการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการเรียนการสอนโดยนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและ GIS ไปใช้ประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการเกษตร และรวมไปถึงการร่วมมือจัดทำหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม ทั้งสองหน่วยงานจะมีการพัฒนากรอบในการดำเนินงานและกิจกรรมที่ชัดเจนต่อไปในอนาคต ในด้านการพัฒนาบุคลากร สทอภ.จะสนับสนุนวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดาวเทียม และ GIS เพื่อการฝึกอบรมแก่คณาจารย์และนักศึกษาในคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมทั้งรับนักศึกษาฝึกงาน เพื่อเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงในภาคสนามด้านนวัตกรรมการจัดการเกษตร (IAM 2601) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2557 นอกจากนี้ GISTDA และ สถาบันฯ จะร่วมกันดำเนินโครงการการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนและพอเพียง ภายใต้ “โครงการสร้างป่าสร้างรายได้” ในพื้นที่ 13 หมู่บ้าน จ. น่าน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย และสร้างรายได้ของครัวเรือน อันเป็นโครงการเพื่อการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “ในปีการศึกษาที่ผ่านมา PIM เปิดการเรียนการสอน คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันของรัฐ และองค์กรภาคธุรกิจเอกชน พันธมิตรในวงการเกษตรที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการเรียนการสอนในทุกมิติให้สมบูรณ์ ความร่วมมือกับ GISTDA ครั้งนี้นับเป็นความโชคดียิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นสถาบันฯ แห่งแรกของอุดมศึกษาในประเทศไทย ร่วมกันนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย บูรณาการศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม ใช้ให้เกิดประสิทธิผลในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม สร้างเยาวชนให้มีความรู้แบบองค์รวมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Modern Technology) และเด่นด้านนวัตกรรม (Innovation) ภายใต้ความร่วมมือ อาทิ การเรียนการสอน การทำวิจัย ผ่านวิธีการสนับสนุนให้คณาจารย์ของสถาบันฯ นำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการทำวิจัยด้านต่างๆ ร่วมกันกับ สทอภ., การฝึกอบรมแลกเปลี่ยนวิทยาการซึ่งกันและกัน เทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัย หากได้มีการร่วมมือกันเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในสาขาอาชีพต่างๆแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นในทางการเกษตรหากนักศึกษาสาขานวัตกรรมการจัดการเกษตรได้รับโอกาส ได้รับการเรียนรู้ และฝึกภาคการปฏิบัติงานจริงจาก GISTDA จะทำให้นักศึกษามี ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร การบริหารจัดการแหล่งน้ำ รวมถึงการประยุกต์ใช้ในระบบการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ได้แก่ ระบบเกษตรกรรมความแม่นยำสูง (Precision Agriculture System) อันเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรยุคใหม่ นอกจากนี้เชื่อมั่นว่ายังมีแนวทางอื่นๆที่จะสามารถนำเทคโนโลยีทางด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ของคณะวิชาอื่นๆได้อีกอย่างเหมาะสม เช่นคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถจะร่วมกันวิจัย พัฒนา ทั้งทางด้านHardware/ Software ที่เกี่ยวข้องกับ GIS, GPS ด้านคณะบริหารธุรกิจ อาจนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในด้านการวางแผนเลือกพื้นที่การประกอบธุรกิจอย่างเหมาะสมทั้งในประเทศและเขตอาเซียนที่มีแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนใช้ในการวางแผนทางด้านโลจิสติกส์, นอกจากนี้ย้งมีทางคณะวิทยาการจัดการ ก็นำไปประยุกต์ใช้ด้านการวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ ในการจัดการอาคารสูงอย่างมีประสิทธิภาพ และหากยังมีแนวทางอื่นๆอีกที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็หวังว่า ทั้งสองหน่วยงานจะพิจารณากำหนดแนวทางความร่วมมือที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต อีกด้วย จากซ้ายไปขวา คุณพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดี PIM, รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี PIM, ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ., ดร. เชาวลิต ศิลปทอง รอง ผสทอภ. ฝ่ายบริหารภาพลักษณ์องค์กร สำนักบริการและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0 2141 4652 โทรสาร 02 143 9592 URL: http://www.gistda.or.th e-mail: pr@gistda.or.th สำนักสื่อสารองค์กร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) 02 832 0200 ถึง 14 www.pim.ac.th prpim@pim.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ