“ชัชวาลย์ สหัสสพาศน์” สอนปั้นปูน เพิ่มพูน “ทักษะชีวิต” ใช้ศิลปะช่างเมืองเพชร ปลูกวัคซีน “สำนึกดี” ให้เด็กและเยาวชน

ข่าวทั่วไป Friday October 11, 2013 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์ “เพชรบุรี” นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวานแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งศิลปะอันเลื่องชื่อที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “ศิลปะสกุลช่างเมืองเพชร” ทั้งงานปูนปั้น งานแทงหยวก งานลงรักปิดทองลายรดน้ำ งานตอกกระดาษ หรืองานแกะสลักฯลฯ แต่งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าเหล่านี้นับวันจะค่อยๆ เลือนหายไปเพราะขาดการสืบทอดจาก “คนรุ่นใหม่” ที่มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับโลกออนไลน์ ประกอบกับการเข้ามาของค่านิยมและวัฒนธรรมต่างชาติ ทำเยาวชนใช้เวลาว่างไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม จากปัญหาดังกล่าวทำให้ “นายชัชวาลย์ สหัสสพาศน์” อดีตครูสอนกวดวิชาศิลปะ ที่หันหลังให้กับเมืองหลวงกลับมาสืบสานงานศิลป์ของแผ่นดินเกิด จึงได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ “บ้านศิลปะเอเชียปูนปั้น” เพราะเชื่อมั่นว่า “ศิลปะ” คือเครื่องมือปลูกฝัง “จิตสำนึกที่ดี” แก่เด็กและเยาวชนได้ และได้จัดทำ “โครงการต่อยอดปูนปั้นโบราณสู่งานศิลปะร่วมสมัย” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก “โครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้จังหวัดเพชรบุรี” ภายใต้โครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากอบายมุข เกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่น โดยเด็กๆ กว่า 20 คนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้วิธีการเขียนลายไทยเบื้องต้น งานศิลปะปูนปั้น ศึกษาวัตถุดิบและวิถีชีวิตของช่างท้องถิ่น พร้อมร่วมสืบสานและถ่ายทอดงานศิลป์สกุลช่างเมืองเพชรออกไปสู่สาธารณชน “ครูชัชวาล สหัสสพาศน์” หรือ “ครูตี๋” ของเด็กๆ เล่าว่าจริงๆ แล้วศิลปะทุกแขนงสามารถที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชนได้ ในส่วนของบ้านศิลปะเอเชียปูนปั้น เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องของงานปูนปั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างแรกจากการทำงานก็คือ “พื้นที่สร้างสรรค์” เป็นพื้นที่ให้เด็กได้มาเรียนรู้และอยู่อย่างปลอดภัย และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรมต่อมาก็คือพัฒนาการด้าน “จิตใจ” “กระบวนการการเรียนรู้ต่างๆ ตั้งแต่การผสมปูน วิธีการปั้นปูนออกมาให้เป็นรูปจะสามารถปลูกจิตสำนึกที่ดี ปลูกความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นในตัวของเขา นอกจากนี้การเรียนรู้ในเรื่องส่วนผสมต่างๆ กว่าที่จะได้มาเป็นปูนที่ล้วนแต่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ พอเขาได้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติมีประโยชน์กับตัวเขา มีประโยชน์กับงานศิลปะ มีประโยชน์กับทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขา ก็เกิดจิตสำนึกที่รักธรรมชาติ รักโลก รักสิ่งแวดล้อม รักตัวเอง และเห็นคุณค่าของตัวเอง” ครูตี๋ระบุ และในระหว่างการฝึกการปั้นปูน เด็กๆ ก็จะมีความตั้งใจ เมื่อตั้งใจก็จะเกิดสมาธิ และพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งสอนหรือชี้แนะในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี “ครูตี๋” จึงมักใช้โอกาสนี้ให้คำแนะนำหรือข้อคิดในการดำเนินชีวิตผ่านงานศิลปะที่เด็กๆ กำลังสนุกและจดจ่อกับงานที่ตนเองทำว่า “ปูนปั้นพอแห้งไปแล้วมันมีอายุได้นานได้เพราะอะไร ก็เพราะว่าพอเวลาฝนเข้ามาก็ซึมเข้าไปในปูน พอแดดออกน้ำก็ระเหยออกไป ทุกอย่างมันต้องผ่านไป เหมือนกับตัวเราคนปั้นปูนกับปูนปั้นคน ถ้าเปรียบตัวเราเป็นปูน เวลามีสิ่งไม่ดีผ่านเข้ามาในชีวิตมันก็ต้องให้มันผ่านออกไป ถ้าเรามัวแต่เก็บเอาไว้ มันก็จะระเบิดออกมาเหมือนปูนซีเมนต์ที่มีอายุมากๆ ที่อยู่ได้ไม่นานเพราะว่าเป็นสารเคมี เก็บสะสมความชื้นความร้อนไว้อายุก็จะสั้น ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเรามีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี เมื่อมันผ่านเข้ามาแล้วต้องให้ผ่านออกไป พยายามเก็บหรือจดจำในสิ่งที่ดี ส่วนที่ไม่ดีให้จำไว้เป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาชีวิตและจิตใจตัวเองที่งดงามต่อไป” ข้อคิดดีๆ ในการใช้ชีวิตที่แฝงอยู่ในงานปูนปั้นของครูตี๋ นายณัฐโมช สิทธิโชคธรรม หรือ “น้องกอล์ฟ” อายุ 16 ปี นักศึกษา ปวช.วิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี ที่มาเข้าร่วมโครงการเพียงไม่กี่เดือนก็มีผลงานได้ไปร่วมจัดแสดง ในการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 ณ หอศิลป์กรุงเทพ เล่าว่าชอบงานปูนปั้นเพราะมีเสน่ห์ มากกว่าภาพวาดตรงที่มีมิติตื้นลึก และศิลปะแขนงนี้ยังเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี เพราะมีการใส่น้ำตาลโตนดลงไปในส่วนผสมทำให้เนื้อปูนมีสีขาวนวลอมเหลือง “การได้มาเรียนปั้นปูนทำให้ได้ทักษะฝีมือในเชิงช่างเพิ่มมากขึ้น ได้พบเพื่อนใหม่ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนจากการช่วยครูปั้นชิ้นงานต่างๆ เพื่อจำหน่าย ตอนนี้มีเป้าหมายว่าอยากฝึกฝนฝีมือให้เก่งกว่านี้เพื่อลงแข่งขันในระดับประเทศ เพื่อที่จะทำให้ศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรของเราให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น” น้องกอล์ฟกล่าว ด.ช.เอกรินทร์ อนุสนธิ์ หรือ “น้องเคน” อายุ 14 ปี จากโรงเรียนคงคาราม จ.เพชรบุรี เล่าวว่ามาเข้าร่วมกิจกรรมกับบ้านเอเซียฯ ได้ประมาณ 1 ปี เพราะชอบในงานศิลปะปูนปั้นที่มีความสวยงาม เพราะนอกจากคนปั้นจะต้องวาดรูปได้แล้ว ยังต้องมีฝีมือในการปั้นให้ออกมามีมิติเหมือนของจริง และการมาอยู่ที่นี่ก็ยังมีความสนุก และมีความสุขจากการได้พบเพื่อนใหม่ๆ “ทุกวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมาฝึกการปั้นปูน เพื่อเรียนรู้เรื่องลายไทยต่างๆ ตอนนี้ก็สามารถปั้นปูนเป็นรูปดอกพุดตาน รูปลายประจำยาม รูปลายกระจังตาอ้อย เพื่อสาธิตให้กับนักท่องเที่ยวเวลาไปออกงานตามสถานที่ต่างๆ ได้ เวลาไปออกงานก็จะชักชวนผู้ที่สนใจให้มาลองหัดปั้นทำลวดลายต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมของเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย” น้องเคนกล่าว สำหรับผลลัพธ์ของการทำงาน “ครูชัชวาลย์” ไม่ได้ต้องการให้เด็กๆ เก่งหรือเชี่ยวชาญขนาดสามารถยึดไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต เพียงแค่อยากให้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างทักษะชีวิตให้เด็กๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันอย่างมีจิตสำนึกและรู้เท่าทันกับสิ่งต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา “ผมเชื่อมั่นว่าศิลปะสามารถที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กๆ ได้ และศิลปะสามารถขับเคลื่อนเมือง ขับเคลื่อนชุมชนได้ เด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรมในลักษณะนี้ เขาก็จะเกิดการพัฒนากระบวนการทางความคิด เพราะฉะนั้นการทำงานตรงนี้จึงไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องเรียนเก่งหรือว่าวาดรูปเก่ง เพียงแต่ว่าอยากให้เขามีจิตสำนึกที่งาม เห็นคุณค่าในตัวเอง ทำยังไงให้รู้ว่าเมื่อเขาผิดหวังขึ้นมา คุณค่าในตัวเองยังมีมากกว่า ฉะนั้นเมื่อเขาเห็นคุณค่าของตัวเองและสร้างคุณค่าจากตัวเองขึ้น ก็จะมีเกิดวัคซีนที่น่ารักๆ เป็นวัคซีนแห่งความดีและวัคซีนแห่งความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวของเขาตลอดไป” ครูชัชวาลย์สรุป.
แท็ก ศิลปะ   ขนม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ