กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสริมศักยภาพหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่รับมือภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Monday October 28, 2013 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดฝึกอบรมโครงการ "เสริมศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" พร้อมมอบไซเรนมือหมุนและถุงยังชีพให้กับหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน ต.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติดินถล่ม โดยมีตัวแทนชุมชนในพื้นที่กว่า 60 คน ร่วมเรียนรู้การวางแผนการจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข บรรเทา ฟื้นฟูความเสียหาย พร้อมฝึกภาคปฏิบัติในการปฐมพยาบาลการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกต้อง และฝึกซ้อมการรับมือภัยพิบัติ บ้านขุนช่างเคี่ยน เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ตั้งอยู่บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 32 กม. การจัดกิจกรรมฝึกอบรมในวันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับชาวบ้านเพื่อลดความเสี่ยงภัยของชุมชนจากภัยพิบัติดินถล่มและเพิ่มขีดความสามารถให้คนในชุมชนได้ระงับบรรเทาภัยได้ก่อนที่หน่วยงานภายนอกจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทางฮอนด้าและกรมปภ.ได้ร่วมกันจัดอบรมเพื่อให้ชาวบ้านได้ฝึกการวางแผนรับมือภัยพิบัติตามหลักการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management: CBDRM) ดังนี้ 1. ศึกษาข้อมูลภัยของชุมชน เพื่อคาดเดาสถานการณ์ว่าจะเกิดภัยและมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด อาทิ ประเภทของภัยและช่วงเวลาที่เกิดภัย จัดทำแผนที่ชุมชนที่มีรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงภัย กำหนดเส้นทางอพยพและจุดรวมพล ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ระดับหนึ่ง 2. วิเคราะห์ข้อมูลภัยของชุมชน เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการเลือกป้องกันและบรรเทาภัย และวิเคราะห์สาเหตุของภัยพิบัติพร้อมหาวิธีแก้ไขร่วมกัน 3. ตกลงและยอมรับการใช้สัญญาณแจ้งเตือนภัยเพื่ออพยพร่วมกัน เพื่อให้ชาวบ้านรับรู้กันได้อย่างทั่วถึงในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเพื่อจะได้มีเวลาเพียงพอที่จะอพยพหนีภัยไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย 4. จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของชุมชน เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย อาทิ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายเฝ้าระวังและเตือนภัย ฝ่ายอพยพ ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายเสบียง ฝ่ายปฐมพยาบาล และฝ่ายประสานงาน 5. จัดทำและฝึกซ้อมแผน พร้อมมอบหมายภารกิจ เพื่อการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เรียบร้อย ไม่วุ่นวาย 6. ประเมินผล และแสดงความคิดเห็นว่ายังมีสิ่งใดบกพร่องและแนวทางการปรับปรุงแก้ไข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ