นักรณรงค์รุ่นเยาว์ เรียนรู้เรื่องสิทธิ

ข่าวทั่วไป Friday November 22, 2013 13:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ อุณหภูมิการเมืองกำลังระอุอย่างร้อนแรง หลากหลายกลยุทธ์และวิธีการรณรงค์ได้ถูกงัดขึ้นมาเพื่อชักชวนให้เหล่าประชาชนได้ส่งเสียงเรียกสิทธิของตัวเองขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ผู้ใหญ่กำลังเปล่งเสียงร้องของการคืนสิทธิ ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งมาเรียกร้องสิทธิของตนเองที่ยังเข้าไม่ถึงเนื่องในวันสิทธิเด็กสากลที่จัดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี ภายใต้การเป็นนักรณรงค์รุ่นเยาว์เพื่อส่งเสียงของตนเองให้ดังถึงสังคมข้างนอก วันสิทธิเด็กสากลได้ถูกจัดตั้งขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2502 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ให้นำไปใช้ในทุกประเทศทั่วโลกที่ได้ร่วมลงสัตยาบัน และเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้จัดกิจกรรมและรณรงค์ในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดไว้มี 4 ข้อเป็นอย่างน้อยที่ประเทศทั่วโลกได้นำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมคือ ๑) สิทธิที่เด็กทุกคนเกิดมาต้องมีชีวิตอยู่รอด ๒) สิทธิที่เด็กจะได้รับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ถูกทารุณกรรมหรือถูกนำไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ๓) สิทธิที่เด็กจะได้รับการพัฒนาโดยรอบด้านทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา แม้กระทั่งสิทธิจะได้เรียนหนังสือ ได้รับการฝึกฝนวิชาชีพแรงงานตามความเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ ๔) สิทธิที่เด็กจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อประสบภัยอันตราย และ ๕) สิทธิที่เด็กจะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง และมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เด็กสามารถแสดงความรู้ ความสามารถและความต้องการของเด็กเอง ด้วยเหตุนี้ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (สำนักงานประเทศไทย) จึงได้จัดกิจกรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ จำนวน 56 คนจากโรงเรียนสุทธาโภชน์ และเยาวชนกว่าอีก 50 คนจากหมู่บ้านสวนชา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ให้การเรียนรู้เรื่องสิทธิของตนเอง และให้นักเรียนได้คิดร่วมกันว่าสิทธิไหนที่ตนเองยังไม่สามารถเข้าถึงได้ จะต้องรณรงค์ในรูปแบบอย่างไรและด้วยวิธีใดถึงจะสามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ ภายใต้กิจกรรม “นักรณรงค์รุ่นจิ๋วตัวเล็กเสียงดัง” ผ่านการเรียนรู้ด้านสื่อรณรงค์เพื่อให้เยาวชนสามารถคิดและวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำผลลัพธ์จากการวิเคราะห์มาเป็นรูปแบบของสื่อรณรงค์ เณริญญา ชัปนพงศ์ ผู้จัดการด้านการรณรงค์และสื่อสารองค์กร องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “เด็กหลายคนยังไม่รู้เรื่องสิทธิเด็ก สิทธิของตนเองคืออะไร แล้วเราได้มีโอกาสได้ใช้สิทธินั้นหรือยัง ที่สำคัญที่สุดสิทธิที่เด็กที่ว่ากันด้วย ๔ หัวข้อนั้น เด็กเหล่านี้ได้รับการปกป้องคุ้มครองครบแล้วหรือไม่ เพราะมีข้อแตกย่อยลงไปอีกหลายข้อ และเขาคิดว่าข้อไหนที่เขายังไม่ได้รับสิทธิตรงนั้นหรือยังเข้าไม่ถึง หากเขาคิดแล้ว ก็ต้องสอนให้เขาเรียนรู้ว่าเพราะอะไรเขาถึงคิดแบบนั้น ปัญหาที่ว่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่อเขารู้ก็จะเป็นกระบวนการว่าทำอย่างไรเขาถึงจะได้สิทธิหรือสิ่งที่เขาต้องการนั้นมา ผ่านรูปแบบสื่อต่างๆ ซึ่งที่เราสอนก็จะมีสื่อสิ่งพิมพ์ การเขียนข้อความลงในสื่อ และสื่อที่น่าสนใจคือสื่อโทรทัศน์ เพราะเข้าถึงได้ง่าย หลากหลายและมีจำนวนค่อนข้างเยอะ โดยจะมีการแสดงเป็นพิธีกรภาคสนาม ซึ่งนักเรียนก็จะได้เรียนรู้ว่าคุณสมบัติของการเป็นพิธีกรที่ดีต้องมีอะไรบ้าง การอ่านภาษาไทยอย่างชัด บุคลิกท่าทางเมื่อต้องเข้ากล้องต้องทำอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นการเสริมให้เขาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมกับความสนุกสนานและได้สาระไปในตัวด้วย” เณริญญากล่าวต่อว่า การรณรงค์นั้นมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้จัด และขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เช่นปัญหาในเมืองหลวงก็อาจจะมีปัญหาอื่นที่เด็กอาจคิดว่าเข้าไม่ถึง และอาจจะแตกต่างจากปัญหาในชนบท ยกตัวอย่าง เช่นในชนบท ปัญหาเรื่องของการเข้าไม่ถึงการศึกษาอาจจะมีมากกว่าในเมือง แต่ในขณะที่ปัญหาในเมือง เช่น การตบตีหรือ ท้องก่อนวัยอันควร จะมีมากกว่าชนบท ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีก เช่น การกล้าแสดงออกที่จะสามารถเรียกร้องสิทธิของตนเอง การวิเคราะห์ถึงปัญหานั้นและนำเสนอวิธีแก้ไขในรูปแบบของเขาเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่อสอบถามเยาวชน ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าสิทธิที่ตนเองขาดนั้นคือการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากเยาวชน การแสดงความคิดเห็นจากเยาวชน และเมื่อไม่ได้รับโอกาสตรงนั้น เยาวชนก็จะกลายเป็นคนไม่แสดงออก ไม่รู้จักคิดและไม่กระตือรือร้นในการทำกิจกรรมใดเมื่อพวกเขาโตขึ้นและต้องเขาอยู่ในสังคม หากมองกันดูเผินๆแล้ว เหมือนจะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเราได้ให้ความสนใจกับเยาวชนมากพอสมควร อีกทั้งมีนโยบายสนับสนุนในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน อาจจะต้องหันกลับมาทบทวนอีกครั้งว่านโยบายเหล่านั้นได้ผ่านประชาพิจารณ์หรือมีความเห็นชอบและมีส่วนร่วมจากพวกเขาหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาแทนเอง และเมื่อถึงเวลานั้น เราก็อาจจะได้ยินเสียงนกหวีดหลายตัวจากพวกเขาเองก็เป็นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ