นักวิชาการเผยวิกฤติการเมืองกระทบพฤติกรรมการบริโภค แนะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้นลูกค้าตัดสินใจซื้อ

ข่าวทั่วไป Monday February 3, 2014 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ศศินทร์ ศศินทร์เผยวิกฤติการเมืองกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมทางการตลาดคือปัจจัยที่อ่อนไหวต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ชี้เศรษฐกิจปี 2557 ขึ้นอยู่กับการเมืองไทย แนะภาคธุรกิจจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและสร้างมูลค่าให้กับสินค้า กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ หากการเมืองยืดเยื้อ ห่วงกระทบภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2557 ว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการชี้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับปัจจัยบวกภายนอก โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจไม่มีผลต่อประเทศไทยมากนัก เพราะจากสถิติพบว่าหากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัวเพิ่มขึ้นจะทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ต้องใช้เวลาวัดผลการเติบโตประมาณ 4-5 เดือน ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ภาคการส่งออกสินค้าเกษตรมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับด้านการลงทุนคาดว่าภายในปี 2557 เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐลดลง ดังนั้นความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอยู่กับการลงทุนของภาคเอกชน หากการเมืองสงบการลงทุนในภาคเอกชนจะมีทิศทางที่ดี เนื่องจากธุรกิจต่างๆ พร้อมที่จะลงทุนเพียงแต่รอความชัดเจนจากปัญหาทางการเมือง ดร.กฤษติกา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภคมักมีความอ่อนไหวในเรื่องผลกระทบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมทางการตลาด โดยเฉพาะปัญหาการเมืองที่มีผลต่อจิตวิทยาการบริโภคสินค้าและบริการ ที่ผ่านมาธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างเห็นได้ชัด ไม่เฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากชาวต่างชาติขาดความมั่นใจการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมช้าลงไปด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสองยืนยันว่าปัญหาการเมืองมีส่วนสำคัญทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งยอดขายลดลงอีกด้วย ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศเพื่อนบ้านในการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของประเทศไทยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) “เมื่อสิ่งแวดล้อมทางการตลาดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่นักการตลาดและผู้ประกอบการควรจะทำคือ การจับตาดูการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบทางด้านใดมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์รับมือกับปัญหาและการตั้งรับวิกฤติต่าง ๆ ที่กระทบต่อยอดขาย ในขณะเดียวกันสามารถนำกลยุทธ์ที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่นพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนและลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น” ดร.กฤษติกากล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาภายในประเทศแน่นอนว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยอดขายตกลงไปด้วย แต่กิจกรรมส่งเสริมการขายจะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทำให้ผู้บริโภครับรู้ได้ถึงมูลค่าของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าธุรกิจต่าง ๆ จะหันมาใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้น สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วรารัตน์ วงศ์ประทีป Assistant Chief of Marketing & PR โทร. 02-218- 3853-4 ต่อ 83853 E-mail: vararat.vongprateep@sasin.edu แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร PR&Marketing Coordinatorโทร. 02-218-4001-9 ต่อ 188 Email: Praewthip.Danwarawijitr@sasin.edu

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ