ตลาดสี่มุมเมืองคึกคัก... รับลูกสถานการณ์การค้าเทศกาลตรุษจีน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 4, 2014 12:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--ดอนเมืองพัฒนา เกาะกระแสสถานการณ์ผัก-ผลไม้ “ตลาดสี่มุมเมือง” หัวขบวนดูแลพื้นที่ผัก แจงตรุษจีนราคาผักไม่เคลื่อนไหวมากนัก ลงพื้นที่ควงแขนผู้ค้ากระหล่ำรายใหญ่ โอดลูกค้ากรุงเทพฯ หดรอดูเหตุการณ์บ้านเมือง ด้าน ผจก. พื้นที่ผลไม้รับลูกตลาดคึกคักแม้ราคาทยานสูง ลั่นผลไม้นอกกำลังมาแรงรับการค้าเสรี คุณอนันต์ ราษฏรนิยม ผู้จัดการฝ่ายจัดพื้นที่ผัก “ตลาดสี่มุมเมือง” บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด เผยถึงสถานการณ์การค้าผักของตลาดสี่มุมเมืองว่า ในช่วงตรุษจีนของปี 2557 นี้ ภาพรวมการค้าขายผักในตลาดมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ถ้าเทียบกับสถานการณ์ตรุษจีนในช่วงปีที่ผ่านมาการค้าขายผักซึ่งถือว่าดีกว่า แต่สถานการณ์การค้าขายผักส่วนใหญ่ในตลาดก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทั้งนี้ ผักที่ผู้บริโภคนิยมซื้อมากที่สุดช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้แก่ กระหล่ำปลี ผักกาดขาว กวางตุ้ง และหัวไชเท้า สาเหตุที่ความต้องการเพิ่มขึ้นเพราะผักดังกล่าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารคาวที่ใช้ในพิธีไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน เพื่อสืบทอดขนบประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน สำหรับราคาผักที่จำหน่ายในตลาดช่วงวันจ่ายของปีนี้ ผักบางชนิด เช่น กระหล่ำปลี มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยเฉลี่ย 4-5 บาท เทียบจากราคาขายในภาวะปรกติ ส่วนสถานการณ์ผักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถือว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิของอากาศที่เย็นลง รวมทั้งพื้นที่การปลูกผักบางประเภทเช่น กระหล่ำ มีพื้นที่ปลูกมากขึ้น และผลกระทบหลังจากน้ำท่วมปลายปี 2554 ทำให้ผลผลิตของผักลดลง ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ผักในตลาดมีปริมาณสูงขึ้นขณะที่ราคาขยับขึ้นไม่มากนัก “ปริมาณผักอย่างเช่น กระหล่ำ ในช่วงหลังปีใหม่ 2557 นี้ มีปริมาณเข้ามาที่ตลาดค่อนข้างมากจนเกือบล้นตลาด ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมกัน ส่งผลให้ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ซื้อสินค้าประเภทผักมีจำนวนลดน้อยลง อาจเป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นในเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ รวมทั้งการคมนาคมขนส่งสินค้าไม่สะดวกเลยทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าในตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่อย่าง “ตลาดสี่มุมเมือง” มีจำนวนลดลง หรือเข้ามาซื้อแต่ซื้อในจำนวนที่น้อยลง เพราะยังวิตกกังวลและไม่มั่นใจว่าขายหมดหรือไม่รวมถึงการบริโภคในเขตเมืองขณะนี้มีความต้องการที่ลดลงเช่นกัน ผู้ประกอบการค้าผักในวันนี้ยังคงต้องประคองธุรกิจไปก่อน แต่เชื่อมั่นว่าหลังเหตุการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีการค้าภายในตลาดจะกลับมาคึกคักเช่นเดิม” คุณอนันต์ กล่าวเสริม ปัจจุบันสัดส่วนสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายในตลาดผักมีปริมาณกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นผลไม้ กลุ่มลูกค้าที่เข้าซื้อสินค้าไปขายต่อให้แก่ผู้บริโภค ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 60 เปอร์เซ็นต์ เช่น ตลาดสะพานใหม่ ตลาดคลองเตย ตลาดบางซื่อ ตลาดบางกะปิ ตลาดมหานาค เป็นต้น และ40 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นส่วนลูกค้าในแถบจังหวัดปริมณฑล ภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยอง เป็นต้น การที่สัดส่วนกลุ่มลูกค้าของตลาดอยู่ในเขตเมืองมากกว่า ส่งผลให้ปริมาณการค้าหดหายไปบางส่วนผู้ประกอบการค้าผักกระหล่ำรายใหญ่ “เฮียชิต” ซึ่งค้าขายในตลาดสี่มุมเมืองมายาวนานกว่า 20 ปี ให้มุมมองว่า ภาวะการค้าผักในขณะนี้ ถือว่ายังต้องประคองตัวกันอยู่ แม้ว่าในช่วงเทศกาลต่างๆ จะมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าเทียบกับปีที่ผ่านมาเปอร์เซ็นต์การค้าลดลงไปกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค การขนส่งอาจทำได้แต่ไม่สะดวกเหมือนเดิม รวมทั้งกลุ่มผู้ซื้ออย่างสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงงาน บางแห่งในเขตเมืองอาจยังไม่พร้อมที่จะเปิดทำการ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าภาวะการค้าผักในตลาดกลางค้าส่งราคาจะมีสัดส่วนที่ดีขึ้นบ้าง ปัจจัยสำคัญมาจากผักบางชนิดเริ่มหมดรุ่นและเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนทำให้ผักมีจำนวนลดน้อยลงทำให้ราคาดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังคงต้องรอดูดีมานด์และ ซัพพลายของตลาดอีกครั้งหนึ่งว่าจะสอดคล้องกันมากน้อยเพียงไร สบช่องผลไม้นอกขยายตัวเสริมแกร่งมาร์เก็ตติ้ง คุณวิทยา สุขเสริม ผู้จัดการฝ่ายจัดพื้นที่ผลไม้ “ตลาดสี่มุมเมือง” ให้ทัศนะการค้าผลไม้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2557 ว่า ผลไม้ในกลุ่มไหว้มีการปรับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วนปริมาณและราคา สินค้าหลักๆ ที่ปรับตัวได้แก่ ส้มเขียวหวาน องุ่น มะพร้าวอ่อน กล้วยหอม ส้มจีน แอปเปิ้ล สาลี่ และแก้วมังกร ขณะที่ส้มเช้งซึ่งปรกติยังไม่มีขายในตลาดก็เริ่มเข้ามาในตลาดต้อนรับช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้เช่นกัน สำหรับกลุ่มผลไม้ที่ปริมาณมากกว่าปรกติจะอยู่ในประเภทส้ม ได้แก่ ส้มเขียวหวาน สายน้ำผึ้ง ส้มโชกุน เทียบกับช่วงเดียวกันของสัปดาห์ก่อนตรุษจีน สินค้าเข้ามาเฉลี่ยอยู่ที่ 110 ตันต่อวัน แต่ช่วงเทศกาลที่มีผู้ซื้อผลไม้แบบขายปลีกและซื้อไปไหว้บรรพบุรุษสินค้า มีจำนวนสินค้าเข้ามาเฉลี่ย 285 ตันต่อวัน ส่วนราคาสัปดาห์ก่อนเทศกาลส้มเขียวหวานเบอร์ 6 ขายอยู่ที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงเทศกาลปรับราคาสูงขึ้นขายอยู่ที่ 95-100 บาท โดยเป็นการปรับทั้งปริมาณและราคา อย่างไรก็ตาม ราคาผลไม้ในช่วงเทศกาลจะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้นตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน ส่งผลให้สถานการณ์การค้าผลไม้ของตลาดสี่มุมเมืองมีบรรยากาศคึกคัก แม้ว่าจำนวนกลุ่มผู้ซื้อ (ต่อคน) จะลดลง แต่ด้านปริมาณการซื้อต่อคนก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเทียบกับปีที่ผ่านมาภาวะการค้าขายผลไม้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า แต่ในปีนี้การใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความเชื่ออย่างการไหว้บรรพบุรุษก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สำหรับภาวะของการค้าผลไม้ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนปี 2557 ก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปรกติ โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมาภาวะผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิเช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล สาลี่ นำเข้าจากจีน และแก้วมังกรนำเข้าจากเวียดนาม สาเหตุภาวะผลไม้ต่างประเทศดีขึ้นนั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากราคาผลไม้ต่างประเทศซึ่งเทียบกับผลไม้ที่ปลูกในประเทศจะมีราคาขายที่ถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่น ส้มจีนขายอยู่ที่ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนส้มไทยจะขายอยู่ที่ 60-80 บาทต่อกิโลกรัม โดยคุณภาพผลไม้ของจีนก็อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้บริโภคพึงพอใจ และไม่สามารถเทียบกับผลไม้ของไทยได้ เพราะไทยก็ไม่สามารถผลิตผลไม้ชนิดเดียวกันเหมือนจีนได้ “คาดว่าสถานการณ์ผลไม้ในปี 2557 นี้ ที่จะขยายตัวรองการค้าเสรีที่กำลังเข้ามาใกล้ในอนาคต ผลไม้ต่างประเทศแนวโน้มจะมีทิศทางการขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากระบบขนส่ง การจัดการระบบสินค้าคงคลัง (โลจิสติกส์) ดีขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งทางบกที่มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมการขนส่งสินค้าจากจีนจำเป็นต้องอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก ส่งผลให้การควบคุมคุณภาพสินค้าทำได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ผนวกกับการขนส่งที่ใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 10-15 วันขึ้น หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลไม้กว่าจะถึงผู้บริโภคมีคุณภาพสดลง ส่วนการขนส่งทางบกใช้เวลาเพียง 4-6 วัน และรถที่ขนส่งสินค้าใช้ระบบที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ทำให้คุณภาพของสินค้ายังคงความสดใหม่” คุณวิทยา กล่าวเสริม ผู้จัดการฝ่ายจัดพื้นที่ผลไม้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลไม้ต่างประเทศของตลาดสี่มุมเมืองในปีนี้จะแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะแรงจูงใจด้านราคาสินค้าที่ถูกและมีคุณภาพดี โดยผลไม้นำเข้าส่วนใหญ่จะมาจากจากประเทศจีนมากที่สุด ส่วนสินค้าจากเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ก็เริ่มทยอยเข้ามาโดยเฉพาะผลไม้ประเภทแก้วมังกร แต่ถ้ากลับมองผลไม้ของไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง กลุ่มที่ลดลงที่เด่นชัด คือ ฝรั่ง ชมพู่ และผลไม้ที่มีพื้นที่ปลูกในเขตภาคกลางเช่น ส้ม นั้นมีจำนวนลดลง สาเหตุสำคัญมาจากพื้นที่ปลูกมีการย้ายพื้นที่ปลูกไปยังในเขตอื่นแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม ส่งผลให้มูลค่าของที่ดินสูงขึ้นพื้นที่เหล่าที่เคยปลูกส้มจึงถูกเปลี่ยนไป ส่งผลให้ทุกวันนี้นับวันผลไม้ไทยบางชนิดจึงมีปริมาณลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผลไม้ของไทยที่ต้องปลูกในภูมิประเทศที่ร้อนชื้นอย่างเช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด ยังคงเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพราะผลไม้ดังกล่าวไทยถือเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าประเภทนี้ในแต่ละปีมูลค่าส่งออกมีจำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้แก่ประเทศในต่ละปี ทั้งในรูปของสด แช่เย็นแช่แข็ง เฉลี่ยปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการค้าผลไม้ไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ