“เกตุไพเราะ 3, 4, 5”ชุมชนตัวอย่าง ปลอดขยะ รักสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday March 14, 2014 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--มอร์ ออร์ เลส ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร เข้าไปให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่ชุมชนต่างๆ ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ในด้านบวก ช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ “ชุมชนเกตุไพเราะ 3, 4, 5” พื้นที่เขตพระโขนง ที่กลายเป็นชุมชนต้นแบบไม่มีขยะ (Zero Waste Communication) โดยได้รับรางวัลชมเชยชุมชนลดขยะ (Zero Waste) ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และรางวัลอันดับ 2 ชุมชนลดโลกร้อนด้วยมือเรา “ชุมชนเกตุไพเราะ 3, 4, 5”เป็นชุมชนเก่าแก่ มีพื้นที่ 15 ไร่ ประชากร 548 คน จาก 97 ครัวเรือน ลักษณะบ้านเรือนมีน้ำขังบริเวณใต้ถุนบ้าน เนื่องจากพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลามาก่อน จากสภาพดังกล่าวกอปรกับการขยายตัวของชุมชน ทำให้น้ำใต้ถุนบ้านเน่าเสียสร้างความรำคาญและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ผู้นำชุมชนและประชาชนจึงร่วมกันแก้ปัญหาโดยน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ 1. การจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) เป็นการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหลือขยะส่งให้กรุงเทพมหานครไปกำจัดน้อยที่สุด ประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ - คัดแยกขยะในครัวเรือน โดยแยกขยะรีไซเคิลขายให้รถรับซื้อของเก่า หรือคัดแยกบริจาคให้แก่เพื่อนบ้านที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เก็บรวบรวมขยะและชักลากไปยังจุดที่กำหนดไว้เป็นจุดรวมขยะของชุมชน โดยจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคีขยะรีไซเคิล รับบริจาคขยะรีไซเคิลจากคนในชุมชน และจัดตั้งกองทุนผ้าป่าสามัคคีขยะรีไซเคิล - คัดแยกขยะอินทรีย์เนื่องจากพื้นที่หน้าชุมชนเป็นตลาด ทำให้มีขยะสดเป็นจำนวนมากจึงมีการคัดแยกขยะอินทรีย์เหล่านี้เพื่อใช้ประโยชน์ เช่น นำไส้ปลาไปเลี้ยงปลาดุก นำเศษอาหารไปหมักน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือใช้หยดเพื่อบำบัดน้ำเสียบริเวณใต้ถุนบ้าง หรือนำไปเป็นส่วนผสมของอีเอ็มบอลเพื่อใช้โยนลงในน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสีย ส่วนเปลือกผลไม้นำไปเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ ที่วัดแถวชุมชนได้ไถ่ชีวิตมาเลี้ยงไว้ - ขยะทั่วไปถูกคัดแยกใส่ถุงพลาสติกเตรียมส่งให้รถจากโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งบริษัทนำรถบรรทุกเข้ามารับขยะเชื้อเพลิงบริเวณหน้าชุมชน สามารถกำจัดขยะได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 ตันส่วนขยะอื่นๆ ที่ขายไม่ได้แต่เผาไหม้ได้ อาสาสมัครจะคัดแยกและใส่เข่งไว้ 2-3 วัน แล้วนำเข้าเครื่องอัดส่งไปยังโรงงานปูนซีเมนต์ โดย SCG ส่งรถเข้าไปรับในชุมชนแล้วส่งไปที่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของปูนซีเมนต์ไทยจังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปของเชื้อเพลิงเพื่อลดการใช้ถ่านหิน ผลจากความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ขยะชุมชนลดลงจาก 1,200 กิโลกรัม / วัน เหลือเพียงประมาณ 100 กิโลกรัม / วัน 2. บำบัดน้ำเสียด้วยการมีส่วนร่วม ชุมชนทำการติดตั้งถังดักไขมันในครัวเรือน เพื่อดักไขมันและเศษอาหารจากอ่างล้างจานที่จะไหลลงไปในน้ำใต้ถุนบ้านซึ่งทำให้น้ำเน่าเสีย ร่วมกับการหยดน้ำจุลินทรีย์และการโยนอีเอ็มบอล พร้อมรณรงค์ให้ทุกบ้านไม่ทิ้งขยะลงใต้ถุนบ้าน ส่งผลให้น้ำที่เคยเน่าเสีย กลับมาใสสะอาด ชาวบ้านที่มีพื้นที่ว่างข้างบ้านยังสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงปลาดุกโดยอาศัยเศษอาหารจากตลาดสดทุกวันสร้างรายอีกด้วย 3. ปรับวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปรับปรุงทัศนียภาพให้ดีขึ้นด้วยการสำรวจไม้ยืนต้นในชุมชน และจัดทำทะเบียนข้อมูลต้นไม้ใหญ่ นอกจากนี้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม โดยเน้นไม้ที่ให้ร่มเงา พร้อมทั้งปลูกพืชผักส่วนครัวไว้กินภายในชุมชนโดยนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นภาชนะในการปลูก เช่น เข่งขนมจีน ยางรถ และนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มาบำรุงต้นไม้ที่ปลูก นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน เช่น จัดกิจกรรมหิ้วถุงผ้าถือตะกร้าไปตลาด ใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อพิทักษ์โลกร้อนจัดกิจกรรมดับไฟ 10 นาที ชีวีมีสุข กิจกรรมประกวดลดการใช้พลังงานในครัวเรือน กิจกรรมตลาดนัดชุมชนร่วมใจเปลี่ยนหลอดไฟ ลดใช้พลังงาน ซึ่งผู้ค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 95 แผง ได้เปลี่ยนมาใช้หลอดประหยัด กิจกรรมอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ใส่ใจพื้นที่สีเขียว จากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวที่สอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ “ชุมชนเกตุไพเราะ 3, 4, 5”จึงกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ปลอดขยะ รักสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาชุมชนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กรุงเทพมหานคร ก้าวสู่การเป็นมหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ด้วย 10 นโยบายหลัก และ 6 มาตรการเร่งด่วน กับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ