กรม คร. เน้นย้ำ กลุ่มเสี่ยงงดกิจกรรมนอกบ้านตอนเช้า สวมหน้ากากป้องกันลดเจ็บป่วยจากหมอกควัน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 19, 2014 17:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--โฟร์ พี แอดส์ ภาวะหมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทย ในวันที่ 14 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา พบค่า PM10 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีค่าสูงกว่าระดับมาตรฐานในบางพื้นที่ของ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน และ พะเยา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน โดยมีรายงานผู้ป่วยโรคระบบทางเดินลมหายใจในจังหวัดทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ไม่มีหมอกควัน ประชาชนไม่ควรออกกำลังในที่โล่งแจ้งช่วงเช้า และที่ที่มีหมอกควันหนา สวมหน้ากากป้องกันโรค ทำความสะอาดบ้านเรือนด้วยผ้าชุบน้ำ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ เจ็บป่วยหายใจติดขัด ไอ หอบ ให้รีบไปพบแพทย์ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทย สัปดาห์นี้มีความรุนแรงขึ้น โดยพบว่า ค่า PM10 หรือ ค่าระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในวันที่ 14 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมามีค่าสูงกว่าระดับมาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) 8 จุด จาก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ (2 จุด, 129 และ 123 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) ลำปาง (1 จุด 154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) เชียงราย (2 จุด, 136 และ 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) แม่ฮ่องสอน (1 จุด, 123 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) แพร่ (1 จุด, 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) และพะเยา (1 จุด, 149 ไมโครกรัมต่อลูกบาศท์เมตร) เนื่องจากฝุ่นละอองนี้มีขนาดเล็กมากทำให้แขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน หากเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อบริเวณนั้น และจะสะสมจนประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง และทำให้คนที่อยู่ในที่โล่งนาน ๆ มีอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล คอแห้ง ระคายคอ หายใจติดขัด เหนื่อยง่าย และแน่นหน้าอก จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคโดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ กรมควบคุมโรคพบว่า กลุ่มโรคทางเดินลมหายใจในสัปดาห์นี้ มีอัตราป่วยสูงสุด (556.96 ต่อแสนประชากร) รองลงมา คือกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบและกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบตามลำดับ สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากหมอกควัน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินลมหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่สูบบุหรี่ “ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว เพื่อลดการสัมผัสหมอกควันได้โดยการ 1.ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาเช้า เนื่องจากหมอกควันจะลอยต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหมอกควัน เพราะสถานการณ์หมอกควัน มักจะเกิดเป็นเวลานานหลายเดือน 2.การลดระดับฝุ่นในบ้าน ประชาชนควรทำความสะอาดบ้าน ของใช้ภายในบ้าน โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาด เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่สะสม หลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาดทำความสะอาด เพราะจะทำให้ฝุ่นกระจายมากยิ่งขึ้น 3.ลดกิจกรรมการใช้แรงมาก ๆ เช่น ออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง เวลาเช้าและที่มีปริมาณหมอกควันในอากาศจำนวนมาก เพราะการออกกำลังกายจะเพิ่มการหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย 10-20 เท่า 4.ลดปัจจัยการเพิ่มระดับฝุ่นหรือมลพิษที่มีอยู่ในช่วงหมอกควัน อาทิ การสูบบุหรี่ การใช้เตาถ่าน การใช้สเปรย์ฉีดพ่นในบ้าน การจุดเทียน การทำอาหาร และการกวาดพื้น 5.สวมหน้ากากป้องกันโรคหรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เพื่อลดการสูดหมอกควัน และ 6. ผู้ที่ใช้รถยนต์ควรปิดหน้าต่างและปรับระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ให้เป็นระบบใช้อากาศหมุนเวียนภายใน ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร.02 591 8172 โทรสาร : 02 590 4388 สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
แท็ก ภาคเหนือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ