ม.กรุงเทพ จับมือซิป้า พัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ป้อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จัดอบรมหลักสูตรเข้มมุ่งสร้างศักยภาพเยาวชนให้ตรงความต้องการของตลาดและกระแสการแข่งขันโลก

ข่าวทั่วไป Friday March 28, 2014 12:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี จัดโครงการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านซอฟต์แวร์เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มุ่งผลิตบุคลากรซอฟต์แวร์เพื่อการท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ สามารถตอบสนองต่อการทำงานในอุตสาหกรรมจริงที่ต้องสร้างสรรค์งานให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วและแม่นยำ รองรับการเปลี่ยนแปลงกระแสตลาดโลกได้อย่างมืออาชีพ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 และบัณฑิตใหม่ ตลอดจนผู้ทำงานในสาขานี้ทั่วประเทศจำนวน 100 คนเข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ ดร.มัทนา สานติวัตรอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในโลกยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อุตสาหกรรมด้านนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการกำลังคนซอฟต์แวร์คุณภาพที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความคิดสร้างสรรค์ อยู่เป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงได้เปิดภาคการเรียนสอนที่เกี่ยวเนื่องกับสาขาดังกล่าวถึง 2 คณะคือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ สาขาวิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต) เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่สำคัญมากที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การแข่งขันกับตลาดโลก” ดร.มัทนา สานติวัตรอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับซิป้าในการผลิตหลักสูตรพิเศษสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 บัณฑิตจบใหม่ และผู้ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ทั่วประเทศ ซึ่งการสร้างเสริมทักษะให้กำลังคนรุ่นใหม่ให้สามารถใช้พลังสร้างสรรค์ในตนเองควบคู่ความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการผลิตผลงานที่มีคุณภาพตอบสนองภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นเป้าหมายการดำเนินงานหลักของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และในการนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพขอขอบคุณซิป้าที่ให้ความไว้วางใจและให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ด้วย” นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เปิดเผยว่า “หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศคือเรื่องของการพัฒนากำลังคน หากดูแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอาทิเช่น สิงคโปร์มีแผนจะเพิ่มงานด้าน Infocomm อีก 80,000 ตำแหน่ง ฟิลิปปินส์มีแผนเพิ่มจำนวนงานของ IT/BPO ให้เป็น 900,000 ตำแหน่ง ในปี 2016 เวียดนามต้องการเพิ่มจำนวนแรงงานทางด้านอุตสาหกรรมไอซีทีให้เป็น 1 ล้านคน ในปี 2020 และเเมื่อเร็วๆนี้ทาง IMC Institute ก็ได้เปิดเผยผลสำรวจ ในหัวข้อ “Emerging Technology: Thai IT Professional Readiness Survey” เพื่อศึกษาถึงภาพรวมและความพร้อมของประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้งานทางด้านซอฟต์แวร์ และการพัฒนา Emerging Technology ซึ่งก็พบว่า เรามีปัญหาสำคัญคือขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจทางด้านนี้เพียงพอ โดยบางเทคโนโลยีมีนักพัฒนาน้อยกว่า 10 คนในหนึ่งองค์กร” ในภาคของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันกำลังคนด้านนี้เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดโลกอย่างมาก โดยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นได้จาก ประเทศต่างๆที่พัฒนาแล้ว อาทิ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแม้แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น มีแนวโน้มของการเติบโตของรายได้และจำนวนแรงงานที่มาจากงานภาคบริการ (services sector) ค่อนข้างสูง ซึ่งงานบริการต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ใช้สำหรับให้บริการทั้งภายในและภายนอกองค์กร ภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งในภาครัฐบาล และเอกชน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศเช่นการท่องเที่ยว ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปีละนับล้านล้านบาท ดังนั้นซิป้าจึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรซอฟต์แวร์ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเป็นการลดภาวะขาดแคลนบุคลากรสำหรับเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ซิป้าได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้มีกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสร้างความร่วมมือกับเอกชนเสมอมาเพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของตลาด จึงเป็นที่น่ายินดีที่เมื่อจบหลักสูตรครั้งนี้เราจะได้จำนวนบุคลากรซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ สามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่การทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพออกมาช่วยรังสรรค์มูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมได้อีกจำนวนหนึ่ง” การจัดการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านซอฟต์แวร์เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำปี 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรซอฟต์แวร์ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเป็นการลดภาวะขาดแคลนบุคลากรสำหรับเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยจะจัดดำเนินการฝึกอบรมให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาปีสุดท้ายที่ใกล้จบการศึกษาหรือจบแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าทำงาน และบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านซอฟต์แวร์ จำนวน 100 คนในรุ่นแรก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 19 เมษายน- 8 มิถุนายน 2557 โดยแบ่งการอบรมภาคทฤษฎี 80 ชั่วโมง (เรียนทุกเสาร์-อาทิตย์) และปฏิบัติภายใต้แนวคิด 80 Hour Innovation Boot Camp โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคอุตสาหกรรมมาร่วมบรรยาย แบ่งปันประสบการณ์จริง และให้โจทย์ภาคปฏิบัติกับผู้เข้าร่วมอบรม ทั้งนี้ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรเมื่อจบหลักสูตร และได้รับโล่ห์เชิดชูเกียรติกรณีผลงานที่เกิดขึ้นจากการฝึกอบรมได้รับการพิจาณาว่ามีความโดดเด่นจากคณะกรรมการจัดงาน โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์กมลีพร สงสกุล สถาบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 089-921-9120 หรืออีเมล kamaleeporn.s@bu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ