วว./IRPC เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม วิจัยเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง

ข่าวทั่วไป Tuesday April 8, 2014 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--วว. ระบุเป็นเครื่องแรกเครื่องเดียวในประเทศไทย ที่ทำงานทดสอบต่อเนื่องอัตโนมัติ ประหยัดเวลาถึง 6 เท่า เก็บข้อมูล พิมพ์รายงานผลได้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพิ่มศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ลดการนำเข้าเทคโนโลยี ร่วมวิจัยพัฒนาเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ระบุเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในประเทศไทยที่สามารถทดสอบได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลาได้ถึง 6 เท่า พร้อมบันทึกข้อมูล ประมวลผล และพิมพ์รายงานผลได้ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายวิศวกรรม วว. ร่วมกับฝ่ายศูนย์วิเคราะห์และห้องปฏิบัติการ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “เครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง” สำหรับใช้ทดสอบวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพของพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง (Ultra-high-molecular-weight polyethylene : UHMWPE) ในเรื่องความเค้นการยืด (Elongational stress) ตามขั้นตอนการทดสอบของมาตรฐาน ISO 11542-2 และมาตรฐาน ASTM D4020-05 เพื่อยืนยันและตรวจสอบคุณลักษณะทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์ซึ่งบริษัทฯ ผลิตขึ้นเองหรือที่ซื้อจากผู้ส่งมอบ ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาเครื่องฯ ดังกล่าว 7 เดือน (เดือนกรกฎาคม 2556 - เดือนกุมภาพันธ์ 2557) “เครื่องทดสอบฯ ผลงานวิจัยของ วว. และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีข้อแตกต่างจากเครื่องทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ คือ เป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในประเทศไทยที่สามารถทำงานทดสอบได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ลดระยะเวลารวมของการทดสอบ จึงช่วยประหยัดเวลา พร้อมบันทึกข้อมูล ประมวลผล และพิมพ์รายงานผลการทดสอบได้ สำหรับโครงการในอนาคตนั้นบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และฝ่ายวิศวกรรม วว. ได้ปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาเครื่องทดสอบอื่นๆ สำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง เช่น เครื่องทดสอบสำหรับหาค่าดัชนีการขัดสี และเครื่องบากรอยชิ้นตัวอย่างทดสอบ เป็นต้น ความสำเร็จจากการพัฒนาเครื่องฯ ในครั้งนี้ทำให้นักวิจัยฝ่ายวิศวกรรมของ วว. ได้แสดงความสามารถ เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การออกแบบและสร้างเครื่องทดสอบฯ ตามมาตรฐานสากลที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง รวมทั้งมีโอกาสประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยที่ผ่านมา มาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น”ผู้ว่าการ วว. กล่าว นายวิชาญ ประภาสพล ผู้จัดการฝ่ายศูนย์วิเคราะห์และห้องปฏิบัติการ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีน เป็นผลอันเนื่องมาจากปัจจุบันเป็นโลกแห่งการแข่งขันแบบโลกาภิวัฒน์หรือโลกไร้พรมแดน ซึ่งตลาดเป้าหมายจะมีขนาดใหญ่และมีคู่แข่งมากขึ้น กอปรกับมาตรการคุ้มครองบริษัทภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงภาษี หรือกฏเกณฑ์ควบคุมต่างๆ ได้ลดลง จนกระทั่งในอนาคตจะไม่มีการคุ้มครองแบบเดิมอีก ทำให้บริษัทต้องพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร “บริษัทเราเป็นผู้ประกอบการอันดับต้นๆ ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้เรามีคู่แข่งที่มีศักยภาพสูง มีกำลังการผลิตและเทคโนโลยีที่สูง ซึ่งทำให้คู่แข่งมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีคู่แข่งน้อยราย และเครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพผลิตภัณฑ์นั้น ยังไม่มีผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งทางบริษัทได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ หน่วยงานภาครัฐ คือ วว. จึงได้ร่วมมือกับฝ่ายวิศวกรรมจัดสร้างเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ซึ่งเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเรา” นายวิชาญ ประภาสพล กล่าว นายบุญส่อง เลี่ยวเพ็ญวงษ์ รักษาการผู้จัดการส่วนผลิตภัณฑ์โพลีโอเลฟินพิเศษ สายงานการตลาด บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โพลีเอทิลีนชนิดมีน้ำหนักโมเลกุลสูง จัดเป็นพลาสติกวิศวกรรม (Engineering Plastic) ซึ่งจะใช้ในงานเฉพาะ เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืองานทางการแพทย์ หรือการทหาร มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สัมประสิทธิ์ความเสียดทานต่ำ ทนทานต่อการสึกกร่อนและเสียดสีสูง มีความแข็งแรงและทนทานต่อแรงกระแทกสูง และทนต่อสารเคมี ทั้งนี้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิต UHMWPE รายแรกในประเทศไทย และรายเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ 6 บริษัท และผู้ผลิตรายอื่นๆ อีกประมาณ 10 บริษัท ซึ่งมีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลก “การขึ้นรูปของ UHMWPE มีความยากและแตกต่างจากการขึ้นรูปของพลาสติกโดยทั่วไป และจำเป็นต้องมีเครื่องจักรผลิตโดยเฉพาะ ดังนั้นเพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ที่สามารถวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางกายภาพต่างๆ ได้ตามมาตรฐานที่รองรับในแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาขึ้น ผลงานวิจัยร่วมของบริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) และฝ่ายวิศวกรรม วว. ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูงเครื่องนี้แล้ว บริษัทยังมีแผนงานที่จะร่วมมือกับทาง วว. ในการจัดสร้างเครื่องมือทดสอบทางวิทยาศาสตร์อื่นๆอีกในอนาคต”นายบุญส่อง เลี่ยวเพ็ญวงษ์ กล่าว นายยุทธนา ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม วว. กล่าวถึงการทำงานของเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูงว่า เครื่องทดสอบฯที่ฝ่ายวิศวกรรมได้ออกแบบและพัฒนาในโครงการนี้ ประกอบด้วยส่วนฮาร์ดแวร์ (ตัวเครื่อง) สำหรับดำเนินการทดสอบ และส่วนซอฟต์แวร์ (โปรแกรม) สำหรับควบคุมการทดสอบรวมทั้งวิเคราะห์และแสดงผลการทดสอบ โดยเครื่องทดสอบฯ สามารถทำงานได้ตามขั้นตอนการทดสอบที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน ISO 11542-2 และมาตรฐาน ASTM D4020-05 ซึ่งได้กำหนดรูปร่างและขนาดของชิ้นงานทดสอบ ที่ใช้สำหรับการทดสอบ โดยชิ้นงานทดสอบจะถูกยึดเข้ากับตัวยึด และมีตุ้มน้ำหนักถ่วงอยู่เพื่อให้ชิ้นงานทดสอบเกิดการยืดตัว ทั้งนี้ ข้อเด่นของเครื่องทดสอบ คือ สามารถลดระยะเวลารวมของการทดสอบ ซึ่งมาตรฐาน ISO และมาตรฐาน ASTM กำหนดให้การทดสอบที่สมบูรณ์ 1 ครั้ง ประกอบด้วยการทดสอบย่อยจำนวน 6 ครั้ง โดยเครื่องทดสอบฯ ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถทำการทดสอบย่อยทั้ง 6 ครั้งได้พร้อมกัน จึงทำให้การทดสอบที่สมบูรณ์ 1 ครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 6 เท่า หรือมากกว่า 3 ชั่วโมง ต่อ 1 การทดสอบ ทำให้สามารถทดสอบได้มากครั้งขึ้นในแต่ละวันของการทำงาน นอกจากนี้ เครื่องยังสามารถทำการทดสอบตามขั้นตอนของมาตรฐานได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ สามารถแสดงข้อมูลระหว่างการทดสอบ สามารถประมวลผลและแสดงผลการทดสอบ และมีระบบบันทึกข้อมูลที่ได้จากการทดสอบ จุดเด่นทั้งหมดนี้ช่วย อำนวยความสะดวกและลดความผิดพลาดในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในการทำตามเงื่อนไขต่างๆของการทดสอบ สามารถคาดการณ์แนวโน้มของข้อมูลการทดสอบ รวมทั้งสามารถเรียกดูข้อมูลในภายหลังเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม การขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฝ่ายวิศวกรรม วว. ได้ที่โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ