ปภ.แนะตรวจสอบสภาพรถ เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อม เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

ข่าวทั่วไป Sunday April 13, 2014 19:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับขี่ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ประจำรถ พร้อมศึกษาวิธีใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินแต่ละชนิด ก่อนเดินทางไกลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสามารถนำมาใช้งานและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ การตรวจสอบสภาพรถและการจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อมใช้งาน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะผู้ขับขี่ตรวจสอบสภาพรถและจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ใช้งานประจำรถ ดังนี้ ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ยางต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บวม ปริหรือมีรอยแตก เติมแรงดันตามค่ามาตรฐานที่กำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนและป้องกันอุบัติเหตุจากยางรั่วหรือระเบิด ระบบไฟมีแสงไฟส่องสว่างทุกดวง หากไฟตำแหน่งใดหรี่หรือไม่ติด ควรเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ หมั่นทำความสะอาดยางใบปัดน้ำฝน หากกวาดน้ำบนกระจกไม่สะอาด เนื้อยางใบปัดแห้งกรอบ ควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนใหม่ พร้อมหมั่นสังเกตสัญญาณไฟเตือนบริเวณหน้าปัดรถและเสียงของเครื่องยนต์ หากมีอาการผิดปกติให้นำรถไปซ่อมที่ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถทันที ตรวจสอบระยะเบรกและเติมน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่กำหนด หม้อน้ำ รังผึ้งและข้อต่อสายยางไม่มีรอยรั่วซึม ตลอดจนหมั่นเติมน้ำในหม้อน้ำไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อป้องกันความร้อนขึ้นสูง ส่งผลให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหาย สำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉินที่ผู้ขับขี่ควรจัดเตรียมไว้ประจำรถ ได้แก่ แม่แรง ประแจขันล้อ และยางอะไหล่ ใช้สำหรับเปลี่ยนยางรถยนต์กรณียางแตก ยางระเบิด ตรวจสอบยางอะไหล่ให้มีลมยางในระดับที่เหมาะสมและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ สายพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ ใช้กรณีแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ โดยต่อพ่วงขั้วแบตเตอรี่กับรถคันอื่น ให้ขั้วบวกต่อกับขั้วบวกและขั้วลบต่อกับขั้วลบ ถังดับเพลิงขนาดเล็ก ใช้สำหรับดับเพลิงกรณีเพลิงไหม้รถที่ไม่รุนแรง โดยให้วางไว้ในตำแหน่งที่หยิบใช้งานสะดวก ไม่วางไว้ใต้เบาะนั่งคนขับโดยไม่มีที่ยึดติด เพราะอาจกลิ้งไปติดใต้แป้นเบรกและคันเร่ง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟเตือนระวังหลัง สามเหลี่ยมสะท้อนแสง ใช้กรณีรถยนต์ขัดข้อง และจำเป็นต้องจอดรถริมข้างทางโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ให้วางไว้ในตำแหน่งที่ผู้ใช้เส้นทางรายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน ค้อนทุบกระจก ใช้ทุบกระจกเพื่อหนีออกจากรถกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ควรจัดเก็บไว้ในห้องโดยสาร เพื่อให้ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารหยิบใช้งานได้สะดวก ชุดอุปกรณ์ลาก พ่วง จูง ใช้สำหรับลากจูงกรณีรถเสียหรือประสบอุบัติเหตุ โดยให้ผูกไว้กับส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้างรถ ที่สำคัญ นอกจากผู้ขับขี่ต้องตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งานแล้ว ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถให้ครบถ้วนและตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงควรศึกษาวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินแต่ละชนิด เพื่อสามารถนำมาใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ