“สมศักดิ์ฟาร์ม” เปลี่ยนแนวคิด ชีวิตเปลี่ยน มั่นใจเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ สร้างอาชีพยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday April 14, 2014 20:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 เม.ย.--ซีพีเอฟ จากชาวนาที่ต้องทนกรำแดดตากฝนเพื่อเปลี่ยนผืนนากว่า 70 ไร่เป็นท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยรวงข้าวสีทอง แต่อาชีพที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษของ สมศักดิ์ ลัดครบุรี กลับต้องเสี่ยงทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ โรคในนาข้าว รวมถึงราคาข้าวที่ผันผวน ทำให้เขาต้องหาอาชีพใหม่ที่จะสร้างรายได้มากขึ้น จึงตัดสินใจเดินทางไปขายแรงงานที่ประเทศไต้หวันถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2535-2539 มีเงินเก็บประมาณ 200,000 บาท เพื่อลงทุนสร้างอาชีพใหม่ๆ หลังจากอิ่มตัวกับการทำงานในต่างประเทศ “เมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่อยากกลับไปทำงานเมืองนอกแล้ว เวลานั้นมองหาอยู่หลายอาชีพ โดยตั้งโจทย์ว่าต้องเป็นงานที่มั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ และที่สำคัญคือได้อยู่กับครอบครัว” สมศักดิ์ บอก กระทั่งเขาได้พบกับ ประทีป เผือกฟัก ประธานกลุ่มคอนแทรคฟาร์มผู้เลี้ยงสุกรพันธุ์ กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สมศักดิ์จึงได้เริ่มศึกษาระบบคอนแทรคฟาร์มอย่างจริงจัง เพราะตนเองไม่มีพื้นฐานด้านการเลี้ยงสัตว์มาก่อน และยอมรับว่าจริงๆแล้วก็ไม่ใช่คนมีความรู้มากเพราะเรียนจบการศึกษาแค่ชั้นประถม 4 และไม่เคยชอบการเลี้ยงสัตว์มาก่อนเลย แต่คิดว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะมีความมั่นคง “บอกตรงๆว่าตอนแรกไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะทำได้ไหม จึงขอไปช่วยลุงประทีปกับญาติที่เป็นสมาชิกโครงการฯ เหมือนกับขอฝึกงานเลี้ยงหมูดูก่อน เพราะที่ฟาร์มลุงประทีปเป็นศูนย์เรียนรู้ของเพื่อนๆคอนแทรคฟาร์มที่โคราช ตอนนั้นฝึกอยู่หลายเดือนจนมั่นใจ จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯกับซีพีเอฟ” สมศักดิ์ เล่าย้อนที่มาของอาชีพ เมื่อตอนเริ่มต้นอาชีพเลี้ยงหมู สมศักดิ์ บอกว่าต้องพบกับสภาวะกดดันจากคนรอบข้างเป็นอย่างมากว่า เขาจะสามารถทำอาชีพเลี้ยงหมูได้จริงหรือ เพราะเงินทุนก็มีน้อย ที่ดินยังอยู่ห่างไกลความเจริญและไม่มีกระแสไฟฟ้าผ่าน แต่ด้วยความตั้งใจจริงและความมานะพยายาม รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือจากพนักงานของซีพีเอฟและลุงประทีป ทำให้มีแหล่งเงินทุน คือ ธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่ให้กู้เงินทุนจำนวน 750,000 บาท รวมกับเงินส่วนตัวอีกกว่า 200,000 บาท เพื่อลงทุนสร้าง “สมศักดิ์ฟาร์ม” เลขที่ 2 หมู่ 15 ต.ครบุรีใต้ อ. ครบุรี จ.นครราชสีมา ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูพันธุ์ระบบปิดแบบอีแวป ความจุ 120 แม่ เมื่อปี 2543 โดยเป็นการเลี้ยงในระบบคอนแทรคฟาร์มรูปแบบประกันรายได้ เมื่อการเลี้ยงเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ดี ประสิทธิภาพการผลิตจึงสูง ผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพ รายได้จึงดีตามไปด้วย สมศักดิ์ใช้เวลาเพียง 5 ปีครึ่ง ในการคืนเงินกู้จากธนาคารได้หมด ซึ่งเร็วกว่าที่ธนาคารกำหนดไว้ที่ 6 ปี เมื่อไม่มีหนี้สินรายได้ที่ได้รับในทุกรุ่นก็กลายเป็นเงินเก็บสะสม ทำให้สามารถซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6ไร่ สร้างบ้านใหม่ 1 หลัง และซื้อรถยนต์ 1 คัน “ข้อดีของการร่วมโครงการคอนแทรคฟาร์มกับซีพีเอฟ คือ เราไม่ได้คิดคนเดียว แต่เรามีซีพีเอฟเป็นเพื่อนคู่คิด และที่สำคัญเรายังมีเพื่อนๆเกษตรกรที่คอยแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ รวมถึงความสำเร็จในการเลี้ยงหมูของเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่พนักงานของบริษัทนำมาบอกเล่าต่อ เพื่อให้การเลี้ยงของเราพัฒนาไปพร้อมๆกัน นี่คือการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่บริษัททำมาตลอด และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือเกษตรกร” สมศักดิ์ กล่าว สำหรับอนาคตของ “สมศักดิ์ฟาร์ม” ที่เกษตรกรวัย 57 ปี มองไว้คือการขยายกิจการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมส่งมอบความสำเร็จต่อไปให้ลูกสาวเพียงคนเดียว ประกอบกับตนเองก็อายุมากขึ้นจึงอยากปูพื้นฐานให้ลูกเป็นกำลังหลักต่อไป ปัจจุบันสมศักดิ์ตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง โดยการเพิ่มความจุการเลี้ยงแม่พันธุ์ขึ้นเป็น 300 แม่ ทำให้เขามีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 60,000-80,000 บาท และหากจ่ายเงินกู้ก้อนที่ 2 ที่ลงทุนไปหมดเขาจะมีรายได้เฉลี่ยราวๆ 100,000 บาทต่อเดือน “วันนี้ผมภูมิใจที่สุดที่มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งสามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่น สามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืนส่งต่อให้ลูกสาวสืบทอดกิจการนี้ต่อไปได้ มีฐานะทางสังคมได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นผู้ประกอบสัมมาชีพที่ดี” สมศักดิ์ บอกอย่างภูมิใจ เมื่อถามถึงเคล็ดลับสู่ความสำเร็จตลอด 14 ปีที่ผ่านมา สมศักดิ์บอกว่า จุดสำคัญอยู่ที่ความคิดของแต่ละคน ถ้าอยากจะมีชีวิตที่ดี อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็ต้องเปลี่ยนความคิด ลองหาสิ่งใหม่ๆทำ เพราะถ้าไม่เปลี่ยนชีวิตก็ต้องเป็นไปในวิถีทางเดิม “โครงการเลี้ยงสุกรพันธุ์กับซีพีเอฟ คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของผม ถึงวันนี้ยังคิดว่าที่ทำอยู่ยังทำได้ดีในระดับปานกลาง แต่ก็รู้ว่าตัวเองน่าจะต้องแก้ไขจุดไหน เพราะได้ทำเอง ลงมือเอง แล้วจะเกิดความภูมิใจในความสำเร็จที่สร้างมากับสองมือเราเอง” สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ