สศอ. พุ่งเป้า Bio-Plastics ไทยเป็นที่หนึ่งของอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2014 18:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--Global Creation สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยตลาดโลกมีความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastics) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ได้ให้ความสนใจผลิตสินค้า เช่น พลาสติกห่อหุ้มมินิดิสก์ ชิ้นส่วนในเครื่องเล่นดีวีดี และใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร สร้างโอกาสของไทยที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastics) ในตลาดโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามกระแสการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศชั้นนำต่างๆ มีนโยบายมุ่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตและเป็นผู้นำตลาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Lead market) เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกไทยมีศักยภาพมากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนอยู่แล้ว ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastics) ให้ก้าวล้ำนำหน้าเป็นที่หนึ่งในอาเซียนได้ต่อไป ซึ่งปริมาณการผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคม European Bio plastics คาดว่ากำลังการผลิตของโลกจะสูงขึ้นถึง 6.2 ล้านตันในปี 2560 (ค.ศ. 2017) จากกำลังการผลิตในปี 2555 (ค.ศ. 2012) อยู่ที่ 1.4 ล้านตัน อัตราการขยายตัวกว่า 35% โดยภูมิภาคที่สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพได้มากที่สุด คือ ทวีปเอเชียและอเมริกาใต้ คิดเป็นสัดส่วน 45.8%, 44% ตามลำดับ ทั้งนี้ประเทศที่มีความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและการผลักดันด้านนโยบายที่มีทิศทาง/เป้าหมายอย่างชัดเจน รวมถึงเป็นผู้ใช้พลาสติกชีวภาพหลักของโลก ได้แก่สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายที่จะให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวมวลจาก 5% ในปี 2545 เพิ่มเป็น 20% ในปี 2573 สหภาพยุโรปต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาฟอสซิล (Fossil-based economy) ไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ให้ได้ภายในปี 2563 และในแถบเอเชีย คือ ญี่ปุ่น มีการออกมาตรการ Biotechnology Strategic Scheme และ Biomass Nippon Strategy ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลาสติกชีวภาพแทนพลาสติกทั่วไปให้ได้ 20% ภายในปี 2563 ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกกว่า ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพมีการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์มากที่สุด เช่น ถุง ขวด เป็นต้น รวมถึงมีการพัฒนาพลาสติกชีวภาพให้มีคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทานมากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ดังจะเห็นได้จากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ได้ให้ความสนใจที่จะใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตสินค้าเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร เช่น บริษัทโซนี่,พานาโซนิค,โตชิบา ได้เริ่มนำพลาสติกชีวภาพมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์/ชิ้นส่วนต่างๆ เช่น พลาสติกห่อหุ้มมินิดิสก์ ชิ้นส่วนในเครื่องเล่นดีวีดี บริษัทแมคโดนัลด์ มีการใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารในงานโอลิมปิก 2012 และห้างสรรพสินค้าชั้นนำในสหภาพยุโรป เช่น Sainsbury’s (อังกฤษ) Kaisers (สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) Hofer (ออสเตรีย) ได้ผลักดันให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพในการบรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในไทยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ แม้ว่าจะมีการขึ้นรูปหรือใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในไทยอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่ามีไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพแล้ว 31 ราย โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ดังนั้นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในไทยยังมีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้ผลิตพลาสติกไทยที่มีจำนวนกว่า 2,378 ราย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในปี 2557 ซึ่งจะรวมถึงการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพด้วย โดยจะมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกถึงกลไกที่จะทำให้เกิดการยกระดับศักยภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในอนาคต ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ศักยภาพ/เทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ต้นทุนการผลิต การขยายตลาดในประเทศ มาตรการ/กฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ได้กลไกที่เหมาะสมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย นอกจากนี้ สศอ. จะจัดให้มีการอบรมเทคนิคกระบวนการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพให้กับผู้ประกอบการ/ผู้สนใจจำนวน 100 คน เพื่อเป็นโครงการนำร่องสนับสนุนผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการผลิตไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป และเร่งให้เกิดการขยายผลที่จะนำไปสู่การเป็นผู้นำในการผลิตพลาสติกชีวภาพในอาเซียน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ