“จังหวัดน่าน” นำร่องดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วม “ปฏิรูปการศึกษา” วางยุทธศาสตร์พัฒนา “เด็กน่าน” บนพื้นฐาน “รักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 2014 12:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์ สสค. เดินหน้าขยายผลการยกระดับการพัฒนาการศึกษาของ “10 จังหวัดดีเด่น” จากโครงการ “ครูสอนดี” หนุนท้องถิ่นยกระดับการเรียนรู้ นำร่องสู่การปฏิรูปการศึกษาในระดับจังหวัด ล่าสุดร่วมกับ “จังหวัดน่าน” นำเสนอผลงานการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล” จับมือ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างพื้นที่ต้นแบบแก้ปัญหาด้านการจัดการศึกษาด้วยตนเอง จากการดำเนินงาน “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ที่ได้ก่อให้เกิด “คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น” ขึ้นในแต่ละจังหวัดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา จนเป็นที่มาของ “จังหวัดดีเด่น” จำนวน 10 จังหวัด ที่สามารถต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างยั่งยืน จังหวัดน่านเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสค. ให้เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา ที่คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกฯ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทไปเป็น “คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้” พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันของจังหวัดภายใต้แนวคิด “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นและการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน โดย คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 6 แห่ง ร่วมสร้างพื้นที่ต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ประกอบไปด้วย ตำบลปอน, ตำบลงอบ จากอำเภอทุ่งช้าง, ตำบลศิลาเพชร, ตำบลไชยวัฒนา จากอำเภอปัว และตำบลสะเนียน, ตำบลกองควาย จากอำเภอเมือง โดยทั้ง 6 ตำบลจะขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนในรูปแบบของ “คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับตำบล” โดยใช้หลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างและพัฒนาให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นรักดีรักษ์ถิ่นเกิดเรียนรู้สู่สากลตามบริบทในท้องถิ่นของแต่ละตำบล ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง เป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ของตำบล ด้วยการนำเอาความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นฐานในการทำงาน และขับเคลื่อนผ่าน 3 โครงการหลักๆ คือ โครงการเด็กและเยาวชนตำบลงอบรักษ์ถิ่นเกิด, โครงการเด็กและเยาวชนตำบลงอบพร้อมใจสู่ประชาคมอาเซียน และ โครงการยกระดับการเรียนรู้สู่สังคมที่เป็นสุข โดยนำพื้นฐานอาชีพในชุมชนมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกับการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ถิ่นเกิด และเตรียมความพร้อมในด้านภาษาเพื่อต้อนรับการเข้ามาของประชาคมอาเซียน “โครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานในโรงเรียน จะทำให้เด็กๆ ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยได้นำ กาแฟมณีพฤกษ์ซึ่งเป็นจุดเด่นของพื้นที่ มาเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในส่วนของกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การปลูก ผลิต และจำหน่าย รวมไปถึงการเรียนรู้ในด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่นี้มีความโดดเด่นในเรื่องของวิถีชนเผ่าม้งและลัวะ ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตรที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เขามีความภูมิใจ มีจิตสำนึกในการที่จะเรียนรู้และอนุรักษ์ธรรมชาติ หวงแหนวัฒนธรรมวิถีชีวิตของตนเอง และการเรียนรู้ตนเองก่อนที่จะไปรู้จักกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้พวกเขามีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015” นายเสกสรรค์ ใจประสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมณีพฤกษ์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลงอบกล่าว สำหรับ ตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว ซึ่งมีปัญหาโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 5 แห่งมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ของ สพฐ. มีปัญหาจำนวนครูไม่เพียงพอต่อการสอนในทุกระดับชั้น ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลไชยวัฒนา จึงเน้นในเรื่องการแก้ปัญหา “โรงเรียนขนาดเล็ก” ด้วยการนำนักเรียนของ 5 โรงเรียนจำนวน 165 คนมาจัดรวมเป็นกลุ่มชั้นเพื่อเรียนร่วมกัน และจัดรถรับส่งไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ จนเกิดเป็น “ไชยวัฒนาโมเดล” นางลำใย หานิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสระวงค์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลไชยวัฒนา กล่าวว่าไชยวัฒนาโมเดลเป็นการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ๆ ดังนั้นการจัดการเรียนร่วมกันจึงเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด เช่นนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.3 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนบ้านเสี้ยว นักเรียนชั้น ป. 2 และ ป.4 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนบ้านหนาด ป.5 ไปเรียนที่โรงเรียนบ้านแดนพนา และ ป.6 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนศรีสระวงค์ โดยทุกเช้าเด็กๆ ก็จะไปรออยู่ที่โรงเรียนต้นสังกัดของตนเอง และทาง อบต.ก็จะจัดรถรับส่งไปยังศูนย์การเรียนยังโรงเรียนต่างๆ “ที่สำคัญไชยวัฒนาโมเดลยังทำให้มีครูผู้สอนเพิ่มขึ้นถึง 2 คนต่อชั้นเรียน ทำให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงมั่นใจได้ว่าคุณภาพและผลการเรียนของเด็กๆ จะดีขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ในแต่ละโรงเรียนยังมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามความถนัดและศักยภาพ เช่น ด้านวิชาการ วัฒนธรรม ดนตรี กีฬา ไอที ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ที่จะหมุนเวียนไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ ตามช่วงชั้น ได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน” นางลำใย กล่าว นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านเปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นว่า เป็นโครงการนำร่องที่ส่วนกลางเป็นผู้จุดประกายให้ท้องถิ่นลุกขึ้นมาทำงานด้านการศึกษา ทำให้ท้องถิ่นเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้ว เพราะในอดีตหลายท้องถิ่นอาจจะเข้าใจว่าตัวเองมีความชำนาญด้านงานก่อสร้างมากกว่างานสร้างคน เรื่องคนเป็นเรื่องของส่วนกลาง แต่ตอนนี้ท้องถิ่นได้หันมาทำงานเรื่องคนกันมากขึ้น “สิ่งที่ทำให้โครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จก็คือเราให้ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะคนในพื้นที่เป็นคนที่รู้ปัญหาดีที่สุด และความยั่งยืนเกิดจากคนที่ทำงานร่วมกัน แม้ในช่วงแรกคิดเอาไว้เหมือนกันว่าเราไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วอำนาจเกิดขึ้นจากการยอมรับในการทำงานร่วมกันและถือเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน” นายก อบจ.กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ