เยอรมนีและไทยร่วมพัฒนาการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 2014 17:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน กรมทรัพยากรน้ำและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมมือกันใน “โครงการบริหารพื้นที่ลุ่มน้ำเชิงระบบนิเวศเพื่อบรรเทาภัยแล้งและอุทกภัย” เพื่อมุ่งสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันภัยพิบัติทางน้ำ อันได้แก่อุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยโดยการดำเนินมาตรการ “สีเขียว” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับการจัดการระบบนิเวศ โครงการฯ ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 2.8 ล้านยูโร หรือราว 112 ล้านบาท จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) มีระยะการดำเนินงานโครงการ 3 ปีและจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 นายนิวัติชัย คัมภีร์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า “ความร่วมมือด้านการจัดการน้ำกับประเทศเยอรมนีสอดคล้องกับนโยบายป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย เนื่องจากภัยพิบัติดังกล่าวมีผลกระทบรุนแรง และมีการคาดการณ์ว่าภัยพิบัติทางน้ำจะปรากฏถี่ขึ้นในอนาคต โครงการฯ เน้นการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาแผนและกลยุทธ์การจัดการน้ำโดยใช้วิธีธรรมชาติหรือแนวทางเชิงนิเวศซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีบทบาทมากนักในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ดังนั้นจึงนับเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพดังกล่าว พื้นที่นำร่องของโครงการสองแห่งคือลุ่มน้ำชีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำท่าดีในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะทำให้เราได้ประสบการณ์จากการทำงานจริงในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันทั้งสภาพและขนาดของพื้นที่” มร. โรลันด์ ไทร์ทเล่อร์ ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า “ภัยพิบัติทางน้ำมีความรุนแรงมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและมาตรการป้องกันจึงมีความสำคัญและเร่งด่วนเพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายในระยะยาว การปรับระบบนิเวศเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพแนวทางหนึ่งในการสร้างมาตรการที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและมีความยั่งยืนเพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ มนุษย์ และระบบนิเวศ ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จจากการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวในลุ่มน้ำหลายสายของประเทศ” “ผลที่คาดว่าจะได้รับคือการนำประสบการณ์และผลการดำเนินงานไปบูรณาการกับกระบวนการดำเนินงานและหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยเพื่อพัฒนาการออกแบบการจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางน้ำต่อไป นอกจากจะช่วยในเรื่องของการจัดการน้ำแล้ว โครงการนี้ยังให้ประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรได้อีกด้วย” มร. ไทร์ทเล่อร์ กล่าวเสริม ในภาพ ฯพณฯ รอล์ฟ ชูลเซอร์ (กลาง) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยนายนิวัติชัย คัมภีร์ (ที่ 3 จากซ้าย) รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำและนายสุรพล ปัตตานี (ที่ 5 จากซ้าย) รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดการประชุมเสวนา เรื่อง การบริการของระบบนิเวศ มาตรการปรับตัวเชิงระบบนิเวศและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนำเสนอประสบการณ์การใช้มาตรการปรับตัวเชิงระบบนิเวศในประเทศเยอรมนี เพื่อเป็นแนวทางและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ