รพ.พะเยาเพิ่มกิจกรรมดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวี ให้ความรู้เพศศึกษา-โทรศัพท์ติดตามตรวจตามนัด-จัดค่ายสุขใจ-แจ้งผลเลือดรายบุคคล ส่งผลความล้มเหลวการรักษาลดลง –วินัยการกินยาดีขึ้น ย้ำต้องทำให้เด็กไว้ใจ เป็นกันเอง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 30, 2014 09:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล นางพัชรี พวงมาลัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.พะเยา นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง“Teenage HIV care” ภายในงานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 15 ว่า รพ.พะเยาเป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง มีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมารับบริการมากเป็นลำดับที่สาม และเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายการดูแลสูง เด็กติดเชื้อเอชไอวีในรพ.พะเยาเป็นเด็กที่เกิดจากการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสูทารกสูง ในปี 2554-2555 เด็กเริ่มเป็นวัยรุ่น มีอายุ 15 ปีขึ้นไปถึง 56.38 % พบปัญหาเรื่องเด็กมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ เกิดการตั้งครรภ์ เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมีวินัยการกินยาไม่ดี ทีมงานเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่วัยรุ่น จึงร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่วัยรุ่น มีความรู้เรื่องเพศศึกษา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึง ตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ในเด็กผู้หญิงที่เสี่ยง ,ลดการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารก และเด็กมีวินัยในการกินยามากกว่า 95 %มีร้อยละ 80 กิจกรรมที่ดำเนินการ ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิดและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี 2.ตรวจปัสสาวะคัดกรองการตั้งครรภ์ในเด็กผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ 3.กรณีเด็กที่มีคู่นอนที่เปิดเผยส่งทำการให้คำปรึกษาคู่(couple counseling)และตรวจแอนตี เอชไอวี 4.โทรศัพท์ติดตามเด็กที่ไม่มารับการตรวจตามนัดและทีมในการติดตามเด็ก 5.จัดช่องทางให้เด็กติดต่อกับทีมการดูแลรักษาเมื่อมีปัญหา เช่น กินยาไม่ได้ ต้องการเลื่อนนัด หรืออื่นๆ 6.จัดปาร์ตี้กลุ่มโดยให้เด็กที่มีวินัยในการกินยาดีสม่ำเสมอเป็นแกนนำ 7. แจ้งผลเลือดแก่เด็กเป็นรายบุคคลพร้อมทั้งอธิบายถึงผลการรักษาทั้งที่ดีและล้มเหลว 8.จัดกิจกรรมโครงการค่ายสุขใจเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยและทีม 9.พัฒนาระบบ Adherence 10.ส่งต่อเด็กไปยังคลินิกวัยรุ่นเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไปและ11.มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษายังโรงพยาบาลเครือข่ายใกล้บ้าน ผลการดำเนินการพบการเปลี่ยนแปลง คือ 1.การให้ความรู้แก่เด็กติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่วัยรุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 100 % ในปี 2555 และ 2556 จากที่ปี 2554 มีเพียง 70 % 2.การให้คำปรึกษาคู่ ในปี 2554 เท่ากับ 0 % ปี 2555และ2556 เท่ากับ 100 % และปี 2555และ 2556ตรวจแอนตีเอชไอวีผลลบทุกราย 3.การคัดกรองการตั้งครรภ์ในปี 2554 เท่ากับ 0 % ในปี 2555 เท่ากับ 80 % และปี 2556 เท่ากับ 100 % 4.วินัยในการกินยามากกว่า 95 % เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่เท่ากับ 73.55 % เป็น 80.56 % ในปี 2555 และในปี 2556 เป็น 82.40 % 5.ร้อยละของกลุ่มเด็กรับยาต้านไวรัสที่พบว่าสามารถควบคุมระดับไวรัสในเลือดได้ถึงระดับที่ตรวจไม่พบ ในปี 2554 เท่ากับ 78 % ปี 2555 เท่ากับ 82 %และปี 2556 เท่ากับ 82 % 6.ความล้มเหลวในการรักษาลดลงและ7.การติดต่อจากแม่สู่ลูก ปี 2554-2556 เท่ากับ 0% “เด็กติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่วัยรุ่นนอกจากให้การดูแลด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ต้องการสร้างความไว้วางใจและเป็นกันเองแก่เด็ก เข้าใจในพัฒนาการของเด็ก การมีทีมงานเข้มแข็ง จึงจะทำให้การพัฒนางานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้”นางพัชรีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ