กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมเกษตรกรปลูกถั่วเหลือง ในระบบการปลูกข้าวและอ้อย ตั้งเป้าหมาย 100,000 ไร่ ใน 3 ปี เพื่อลดปริมาณการนำเข้า

ข่าวทั่วไป Friday May 30, 2014 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดประชุมวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2557 ภายใต้แนวคิด “วิกฤตเกษตรไทย วิชาการช่วยได้” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า กรมวิชาการเกษตร กำหนดให้มีการจัดการประชุมวิชาการขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้นักวิจัยกรมวิชาการเกษตรทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยในปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังได้จัดให้มีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักวิจัย รางวัลเกษตรกรดีเด่นแปลง GAP เกษตรอินทรีย์ และผู้ประกอบการโรงงานดีเด่น ภายในงานได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท กรีนสปอต จำกัด และสมาคมผู้ผลิตถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการผลิตถั่วเหลืองแบบครบวงจร ตั้งแต่ปี 2557-2560 โดยมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเพิ่มมากขึ้นในระบบการผลิตข้าว-ถั่วเหลือง และถั่วเหลือง-อ้อย ซึ่งปีแรกนี้มีเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,000 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานกว่า 6,000 ตัน มูลค่าประมาณ 140 ล้านบาท และภายใน 3 ปี โครงการฯได้ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ไร่ เกษตรกร 3,500 ราย คาดว่าจะได้ผลผลิตถั่วเหลืองรวมกว่า 20,000 ตัน มูลค่าประมาณ 470 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองได้ค่อนข้างมาก ซึ่งทั้ง 5 องค์กร ได้มีแผนร่วมส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองโดยใช้เมล็ดพันธ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน นายชวลิต กล่าวอีกว่า ถั่วเหลืองเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่ไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งนี้ คาดว่า จะเกิดระบบกระจายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับชุมชน ที่สำคัญยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตถั่วเหลืองในประเทศมากขึ้น ช่วยลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนช่วยอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อมด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ