สคร.7 เฝ้าระวังเข้มสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก ห่วงโรคมือเท้าปากระบาด

ข่าวทั่วไป Wednesday June 11, 2014 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เตือนสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก ให้เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากระบาดในเด็ก หลังพบผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว กว่า 1400 ราย นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญของเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมือ เท้า ปากแม้จะพบโรคนี้ได้ตลอดปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงฤดูฝน จากรายงานการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 พ.ค. 2557 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 13,653 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 1 ปี รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ ด้านรายงานสถานการณ์โรคที่เฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 8 และ 10 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 มิถุนายน 2557 มีรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,354 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ จ.อุบลราชธานี (พบผู้ป่วย 556 ราย) จ. ศรีสะเกษ (พบผู้ป่วย 318 ราย) จ. ยโสธร(พบผู้ป่วย 132 ราย) ตามลำดับ นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า เด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยอาการมีไข้ต่ำๆอ่อนเพลีย ต่อมาอีก1-2 วัน เด็กจะไม่ยอมดื่มนม หรือรับประทานอาหารเนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มแดงใส ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ จะพบตุ่มหรือผื่น ที่บริเวณผ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ควรนอนพักผ่อนมากๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปากและรับประทานอาหารได้มากขึ้น ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ “ถึงแม้ว่าโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีที่ลดการเจ็บป่วยดีที่สุดคือการป้องกัน โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน การป้องกันในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ ที่มีเด็กรวมอยู่ด้วยกันจำนวนมาก ต้องแยกเด็กป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก ออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคโดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกมีอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า รีบนำบุตรหลานมาพบแพทย์ ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 025903159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” ข้อความสำคัญ “ล้างมือบ่อยครั้ง ช่วยยับยั้งโรคมือเท้าปาก”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ