มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ เดินหน้าขับเคลื่อน ๘ นโยบายเพื่อสุขภาวะคนไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 18, 2014 19:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ วันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ หนุนชุมชนเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ พร้อมผลักดันมติไปสู่นโยบายสาธารณะ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่รวบรวมข้อเสนอทั้งหมด เพื่อเร่งดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูปประเทศ ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ วันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้ แนวคิดว่า "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน" ถือว่าประสบความสำเร็จ ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมมากกว่า ๒,๓๐๐ คน พร้อมทั้งสามารถขับเคลื่อนวาระสำคัญด้านสุขภาวะทั้งสิ้น ๘ ประเด็น รวมถึงมีการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง ๕ ครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นความก้าวหน้าของกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะให้สังคมเกิดสุขภาวะที่ดี ตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงก้าวต่อไปของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า กลไก “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” สามารถขับเคลื่อนการพัฒนา นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีมติข้อเสนอทางนโยบายออกมาแล้วรวม ๕๑ เรื่อง ผลักดันเป็นมติคณะรัฐมนตรีและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม “กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นการทำงานในรูปของการอภิบาลโดยเครือข่าย ถือเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เปิดช่องทางให้ทุกภาคส่วน แม้แต่คนเล็กๆในสังคม ได้เสนอและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างสุขภาวะ ทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ โดยทุกฝ่ายสามารถนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ไปปรับใช้ได้ในทุกระดับ” นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๔ วาระ การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวใหญ่ในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนที่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศไทย ดังนั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ จึงนำประเด็นการปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ขึ้นมาพิจารณาเป็นระเบียบวาระพิเศษ ผลการพิจารณามีข้อเสนอที่สำคัญสามประการ ประการที่หนึ่ง ให้รัฐบาลใหม่ที่จะทำการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศนำกลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และสมัชชาปฏิรูปไปปรับใช้ในกระบวนการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ เพราะเป็นกลไกที่ไม่ได้ใช้อารมณ์ในการทำข้อเสนอ แต่ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ประการที่สอง ให้กลไกการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้นำมติจากการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งนี้ ร่วมกับมติสมัชชาสุขภาพและมติสมัชชาปฏิรูป ที่ผ่านมาทั้งหมด รวม ๘๖ มติ รวมทั้งข้อเสนอของ คณะกรรมการปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไปประกอบการปฏิรูปประเทศไทย ประการที่สาม กระบวนการทำงานที่ผ่านมา ผ่านการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากภาคีเครือข่ายต่างๆ "องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งหมดเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อหลักการสำคัญ ของการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น การอภิบาลโดยระบบเครือข่าย การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความความเสมอภาคของ ๓ กองทุนหลัก ทั้งกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลังพลเมือง” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๑ กล่าวว่า ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญเรื่อง นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ที่มุ่งสร้างความเป็นธรรม เสมอภาค และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทัน เพื่อแก้ปัญหาการตรวจสุขภาพเกินจำเป็นที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และให้มุ่งเน้นการตรวจสุขภาพ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่ตรวจเพื่อหาโรคเท่านั้น นอกจากนั้น ยังพิจารณาวาระ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย ถือเป็นภัยคุกคาม อันดับต้นๆที่คร่าชีวิตคนไทย ทั้ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง โดยมี ๙ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อภายในปี ๒๕๖๘ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในการติดตามความก้าวหน้าการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อ นอกจากนั้น ยังมีการพิจารณาวาระ ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ยังต้องการทำงานร่วมกันต่อไปจึงไม่มีมติในเรื่องดังกล่าว นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๒ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในวาระ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นการรวมพลังภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปสุขภาพจากระดับล่าง ซึ่งมุ่งหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่ดีขึ้นได้ในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเรื่อง แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑ เพื่อให้บูรณาการทำงานแก้ปัญหาสื่อที่ถูกใช้เป็นช่องทางโฆษณาเกินจริงและหลอกลวงผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่สื่อรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นซึ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนั้น ที่ประชุมยังรับทราบรายงานความก้าวหน้าในการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จำนวน ๑๐ มติ ซึ่งพบว่าทั้งหมดมีความก้าวหน้าตามลำดับ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๓ กล่าวว่า มีการพิจารณาวาระ การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ,ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน และ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม (One Health) โดยภาคีเครือข่ายเห็นชอบที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการจัดการอาหารในโรงเรียนที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เด็กและคนไทยมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ