พม. ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมนำเสนอบทเรียน "กลไกการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว"

ข่าวทั่วไป Thursday June 19, 2014 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมนำเสนอบทเรียน "กลไกการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว" โดยมีนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น๑ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยมีการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมและดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ๑๓๐๐ และกลไกอื่นๆ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อนำไปสู่การป้องกันแก้ไขปัญหา และวางมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ หลังจากมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ๑๓๐๐ ได้ดำเนินการพัฒนาพนักงาน เจ้าหน้าที่ และจัดระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ(สป.พม.) ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงพัฒนา ยกระดับการทำงานเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ประกอบด้วย ๑) การตั้งครรภ์ ไม่พร้อม (คุณแม่วัยใส) ๒) การค้ามนุษย์ ๓) แรงงานเด็ก และ ๔) ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เกิดความยั่งยืนในการทำงาน ให้บริการเป็นมิตร เป็นธรรม และไม่ละเมิดซ้ำ นายเลิศปัญญา กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมนำเสนอบทเรียน "กลไกการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว" เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายชุมชนจากกรุงเทพฯและจังหวัดสมุทรปราการ นำเสนอบทเรียนตัวอย่างที่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งเชิงรับ เชิงรุก ตลอดจนการนำเสนอมาตรการและยุทธศาสตร์จากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมประชุม และนำไปเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ