สคร.7 สร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดชายแดน

ข่าวทั่วไป Monday June 23, 2014 18:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ประชุมพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หวังสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดชายแดน แนะประชาชนลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด ด้วย คาถา 5ย วันนี้ (23 มิ.ย. 2557) นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานเปิดการประชุมการพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในจังหวัดชายแดนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ณ ห้องประชุม โรงแรมบ้านสวนคุณตา รีสอร์ท อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ว่าโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เป็นโรคที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อันตรายร้ายแรงที่สุดพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทเมื่อคนหรือสัตว์ได้รับเชื้อและแสดงอาการแล้วไม่มีทางรักษาจะต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคโดยเฉพาะสุนัขและแมวซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนมาก ทำให้โรคนี้เป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขเนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้มีคนและสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคนี้ทุกปี จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในพื้นที่รับผิดชอบยังปรากฏมีผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เกิดขึ้นประปรายเกือบทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนมีความเสี่ยงสูงและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหา จึงจัดให้มีการพัฒนาเครือข่ายกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ตลอดจนจัดทำหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อให้เครือข่ายโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนจากหน่วยงานสาธารณสุขปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Free Area) อย่างยั่งยืนต่อไป “ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและลดความเสี่ยงจากการถูกกัดด้วยตนเอง ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” มีรายละเอียด ดังนี้ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข(หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ อีก ประเด็นที่สำคัญ คือโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422” นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ