สธ. ชี้วิธีการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในห้างสรรพสินค้า

ข่าวทั่วไป Monday July 7, 2014 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--โฟร์ พี แอดส์ ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญของเชื้อโรคต่างๆ โรคที่มีแนวโน้มระบาดในฤดูฝนปีนี้ คือ โรคมือ เท้า ปาก โรคนี้แม้จะพบได้ตลอดปี แต่คาดจะสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ขอให้เน้นการรักษาความสะอาด ห้องน้ำห้องส้วม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องเล่นต่างๆ และให้คัดกรองเด็กทุกวัน รวมทั้งให้มีจุดล้างมือ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ สำหรับล้างมือก่อนเข้าพื้นที่ต่างๆ หากพบเด็กป่วย คือ มีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก ที่ฝ่ามือไม่คัน ไม่ควรให้เล่นร่วมกับเด็กคนอื่นๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่รณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน อ. เมือง จ. นนทบุรี ว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูการระบาดหลักของโรคมือ เท้า ปาก ปีนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มการระบาดมากกว่าปีก่อนๆ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 มิ.ย. 2557 มีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่วประเทศจำนวน 23,671 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปี รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ เชียงราย รองลงมา คือ ระยอง แม่ฮ่องสอน ประจวบคีรีขันธ์ และ จันทบุรี ตามลำดับ ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ประสานการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และ กรุงเทพฯ ให้เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในการป้องกันโรค และประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในสถานที่ที่เด็กเล็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล รวมทั้งศูนย์เด็กเล่นต่างๆ เพราะเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนหรือช่วงวันหยุดผู้ปกครองบางส่วนมักจะพาบุตรหลานไปพักผ่อน เล่นเครื่องเล่นบริเวณศูนย์เด็กเล่น หรือรับประทานอาหารตามห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ทำให้ห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่เสี่ยงอีกแห่งหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของโรคดังกล่าวได้ นพ.โสภณ กล่าวต่อว่าดังนั้นห้างสรรพสินค้าต่างๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลบริเวณที่มีเด็กๆ มาอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น บริเวณศูนย์เครื่องเล่น ศูนย์อาหาร และห้องน้ำ โดยควรดำเนินการ 4 มาตรการ ดังนี้ คือ มาตรการดูแลบริเวณศูนย์เครื่องเล่น ได้แก่ 1. การทำความสะอาดพื้นบริเวณศูนย์เครื่องเล่น และบริเวณใกล้เคียง เพื่อทำลายเชื้อโรค ด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไปอย่างน้อยวันละครั้งก่อนเปิดให้บริการ 2. ทำความสะอาดเครื่องเล่นต่างๆ รวมทั้งของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ หรือ ลูกบอล ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ และนำไปผึ่งให้แห้ง วันละครั้งก่อนเปิดให้บริการ 3. ดูแลบริเวณศูนย์เครื่องเล่นให้สะอาด และมีจุดบริการในการทิ้งสิ่งปฏิกูลเพื่อมิให้สิ่งสกปรกกระจายอยู่ตามพื้น และ 4. จัดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพื่อให้ผู้ปกครองและเด็กใช้ล้างมือก่อนและหลังเข้าเล่นในบริเวณศูนย์เครื่องเล่น ส่วนมาตรการดูแลบริเวณศูนย์อาหาร ได้แก่ 1. ทำความสะอาดพื้นบริเวณศูนย์อาหาร และบริเวณใกล้เคียง เพื่อทำลายเชื้อโรค ด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป อย่างน้อยวันละครั้งก่อนเปิดให้บริการ 2. ทำความสะอาดบริเวณโต๊ะอาหาร เพื่อทำลายเชื้อโรค ด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป อย่างน้อยวันละครั้งก่อนเปิดให้บริการ หรือทุกครั้งที่มีอาหารเปรอะเปื้อน 3. ผู้ประกอบอาหารควรล้างมือ ก่อนเตรียมอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง 4. จุดที่จัดไว้บริการช้อนส้อม ควรมีหม้อต้มสำหรับลวกช้อนหรือส้อมก่อนนำไปใช้บริโภคอาหาร และ 5. จัดตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรืออ่างล้างมือเพื่อให้ผู้ปกครองและเด็กใช้ล้างมือก่อนและหลังเข้าบริเวณศูนย์อาหาร มาตรการดูแลบริเวณห้องน้ำ 1. ทำความสะอาดพื้นบริเวณห้องน้ำ และสุขภัณฑ์ต่างๆ เพื่อทำลายเชื้อโรค ด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป อย่างน้อยวันละครั้งก่อนเปิดให้บริการ 2. จัดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์เจลล้างมือ หรืออ่างล้างมือเพื่อให้ผู้ปกครองและเด็กใช้ล้างมือก่อน และหลังเข้าห้องน้ำ และมาตรการดูแลบริเวณทั่วไป แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลบริเวณทั่วไปของห้างสรรพสินค้า ดำเนินการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ และบริเวณที่มีผู้สัมผัสปริมาณมาก เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ที่กดลิฟท์ ด้วยสบู่ ผงซักฟอก แล้วเช็ดทำความสะอาด หรือน้ำยาสำหรับทำความสะอาดทั่วไป เป็นต้น “โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) สามารถติดต่อได้ง่าย เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้ออาจติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก ลูกบิด ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากพบมีเด็กในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน ให้พักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้ทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น และสนามเด็กเล่น หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หายใจหอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่รับประทานอาหารและนํ้า ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 025903159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.โสภณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ