ไทยร่วมกับประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกผลักดันปฏิญญากรุงเทพฯ สู่เวทีลดภัยพิบัติระดับโลก

ข่าวทั่วไป Monday July 7, 2014 12:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประเทศไทย ร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นกรอบแนวทางการลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติ ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติแก่ชุมชนและท้องถิ่น ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมส่งเสริมการลงทุนสาธารณะด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงผลักดันให้ประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นวาระแห่งชาติและบรรจุในแผนพัฒนาของประเทศและชุมชน ซึ่งแต่ละประเทศจะได้จัดทำแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ให้สอดคล้องกับกรอบการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระยะที่ 2 (HFA 2) เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster risk Reduction: AMCDRR) ซึ่งประเทศไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (UNISDR) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 – 26 มิถุนายน 2557 ณ ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้ร่วมรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นกรอบแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติแก่ชุมชนและท้องถิ่น มุ่งเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะการเสริมสร้างศักยภาพในการพร้อมรับและฟื้นกลับเร็วจากภัยพิบัติของชุมชนและท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา พร้อมทั้งผลักดันบทบาทของภาคเอกชนในการลงทุนสาธารณะด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติจากระดับสากลสู่ระดับท้องถิ่น ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยและสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่สำคัญ จะได้ผลักดันให้ประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติและบรรจุในแผนพัฒนาของชุมชนและประเทศ นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า 63 ประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้กำหนดแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระยะที่ 2 ใน 9 ประเด็น ดังนี้ (1) การบูรณาการการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (2) การดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างจริงจัง (3)การพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูล ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (4) การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (5) การเสริมสร้างความร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ (6) การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (7) การผลักดันการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (8) การส่งเสริมบทบาทสตรีในการขับเคลื่อนการลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติ และ (9) การกำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมภายใต้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งแต่ละประเทศจะได้จัดทำ แนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้สอดคล้องกับกรอบการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระยะที่ 2 (HFA 2) เพื่อให้เกิดกลไก การจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้นำข้อเสนอแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามปฏิญญากรุงเทพฯ เสนอต่อที่ประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสมัยที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘เพื่อร่วมสร้างภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้พร้อมรับ ปรับตัวและฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ