สกว. จัดเวทีรายงานโลกร้อน ความจริงที่ทุกคนควรฟัง พร้อมเปิดตัวหนังสือ Climate@Risk

ข่าวทั่วไป Wednesday July 9, 2014 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สกว. โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานโดยสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ Global Warming Forum เรื่อง “รายงานโลกร้อน IPCC AR5 : ความจริงที่ทุกคนควรฟัง (IPCC AR5: A Convenient Truth)” เพื่อเผยแพร่ผลงานความรู้และข้อค้นพบสำคัญล่าสุดด้านวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบ การปรับตัว และความล่อแหลม สู่หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์สำหรับขับเคลื่อนงานภาคนโยบายและต่อยอดสู่แผนปฏิบัติ พร้อมเปิดตัวหนังสือ “Climate@Risk: ความเสี่ยงโลกร้อนกับอนาคตประเทศไทย” หนังสือที่รวมบทความตีพิมพ์คอลัมน์ Climate@Risk ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจตลอดช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. กล่าวถึงสาระสำคัญของรายงานด้านวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ค.ศ. 2013 ของคณะทำงานกลุ่มที่ 1 ของ IPCC ว่า “IPCC หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนับมีบทบาทสำคัญกับสังคมโลกและสังคมไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลที่เกิดจากการทำงานของ IPCC ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนในลักษณะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา IPCC ได้ทำการสังเคราะห์และประมวลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาแล้ว 4 ครั้ง ดำเนินการในทุกๆ 5 ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 ที่นำข้อมูลครั้งก่อนมาต่อยอดให้เห็นพัฒนาการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ ซึ่งการทำงานของคณะที่ 1 จะเน้นการยืนยันบทบาทของมนุษย์ในการเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การให้ภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที” “นับแต่เริ่มตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์พบว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในหลายๆ ลักษณะไม่เคยเกิดมาก่อนในห้วงช่วงเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา โลกร้อนเกิดขึ้นทั้งบนภาคพื้นทวีปและในมหาสมุทร เกิดการละลายน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยพบการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หลายประการ อาทิ แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ. 1850-2012 เพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นบน (Troposphere) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะซีกโลกเหนือ อัตรการค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลโลกระหว่างปี ค.ศ. 1901-2010 เพิ่มขึ้น 0.19 เมตร และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามวลน้ำแข็งและธารน้ำแข็งทั่วโลกได้ลดลงอย่างชัดเจน สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการและปริมาณ/ชนิดสารประกอบต่างๆ ในบรรยากาศทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์” “ข้อสรุปหนึ่งที่สำคัญต่อการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคือ การปล่อยและสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอันเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะยังคงอยู่เป็นเวลานานหลายศตวรรษแม้ว่าการปล่อยก๊าซจะหยุดไปแล้ว ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องหลายศตวรรษ” รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง กล่าวสรุป ด้าน ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงรายงานประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคณะทำงานกลุ่มที่ 2 ของ IPCC ว่าด้วยผลกระทบ การปรับตัวและความล่อแหลม ค.ศ. 2014 ว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รายงานของ IPCC ได้ประเมินรูปแบบของความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นว่ามีการขยับและเลื่อนไปอย่างไร โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่อง “ความเสี่ยง” เนื่องจากมีนัยยะต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรวมถึงคนรุ่นถัดไปในอนาคต ซึ่งเนื้อหาของรายงานในส่วนของผลกระทบและความล่อแหลมที่สังเกตได้ พบว่า ในช่วงทศวรรษเร็วๆ นี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อระบบธรรมชาติและระบบมนุษย์ทั่วทุกทวีปและข้ามมหาสมุทร และการละลายของหิมะและน้ำแข็งในหลายภูมิภาค มีผลให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดต้องปรับต่อต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำไปสู่การอพยพและจำนวนประชากร รวมทั้งส่งผลกระทบทางลบต่อผลผลิตพืชในหลายภูมิภาค ตลอดจนการตายที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นในบางภูมิภาค” “ในด้านความเสี่ยงที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนับว่ามีความเสี่ยงสำคัญหลายประการ ทั้งที่มีผลกระทบต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ภัยน้ำท่วมสำหรับประชากรในเมืองขนาดใหญ่ สภาวะความรุนแรงของลมฟ้าอากาศ ตลอดจนความเสี่ยงและเจ็บป่วยจากความร้อนที่สูงขึ้น ขณะที่ระบบนิเวศน์พบว่า มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียระบบนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง และระบบนิเวศน์บกและแหล่งน้ำจืด ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่างๆ บางส่วนถูกจำกัดเฉพาะภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ความเสี่ยงอื่นๆ อาจมีผลกระทบเชิงซ้อนแบบขั้นบันได คือจะซับซ้อนและมีความรุนแรงมากขึ้น” “อย่างไรก็ตาม การจัดการความเสี่ยงในอนาคตและการสร้างความยืดหยุ่นต่อการลดความล่อแหลมจากความแปรปรวนของภูมิอากาศในปัจจุบันสามารถกระทำได้ อาทิ การลดความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์ การประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องให้รู้เท่าทันความเสี่ยง การปรับตัวต่อกิจกรรมการบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการเมือง เป็นต้น” ดร.อัศมน ลิ่มสกุล กล่าว ทั้งนี้ รายงานโลกร้อน IPCC AR5 (The IPCC Fifth Assessment Report: AR5) ถือเป็นแหล่งข้อมูลหลักของโลกในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งล่าสุดได้เผยแพร่รายงานฉบับที่ 5 เมื่อปลายเดือนกันยายน 2556 และอยู่ระหว่างการจัดทำ Synthesis Report หรือรายงานการคิดเชิงสังเคราะห์ คาดว่าจะเผยแพร่สู่สาธารณะในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ พร้อมกันนี้ ภายในงานมีการเปิดตัวหนังสือ “Climate@Risk: ความเสี่ยงโลกร้อนกับอนาคตประเทศไทย” ซึ่งหนังสือดังกล่าวรวบรวมบทความที่เขียนโดยผู้ประสานชุดโครงการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย นายศุภกร ชินวรรโณ ผู้ประสานงานชุดโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ประสานงานชุดโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม สกว. โดยบทความต่างๆ ได้ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ Climate@Risk หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเป็นประจำทุกเดือนในช่วงต้นปี 2555 - ต้นปี 2557 ผู้สนใจสามารถหาซื้อหรือติดต่อได้ที่ศูนย์หนังสือ สกว. เบอร์ 0-2278-8200 ต่อ 8322

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ