กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทย ลด ละ เลิก เหล้า เข้าพรรษา เผย ยิ่งดื่มยิ่งเสี่ยงผิดปกติทางจิต แนะ 7 สัญญาณเสี่ยง ติดสุรา

ข่าวทั่วไป Thursday July 10, 2014 16:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2556 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 7.08 ลิตร ต่อหัวประชากร ทำให้ถูกจัดเป็นประเทศที่ดื่มระดับเสี่ยงปานกลาง ขณะที่ ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการสำรวจประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ในช่วงปี 2544-2554 ภาพรวมของนักดื่มค่อนข้างคงที่ โดยมีทิศทางลดลงเล็กน้อย นักดื่มชายดื่มลดลงเล็กน้อย ส่วนนักดื่มหญิงและเยาวชน มีแนวโน้มดื่มเพิ่มขึ้น ในปี 2554 พบ วัยผู้ใหญ่ (อายุ 25-59 ปี) เป็นวัยที่ดื่มสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มเยาวชน (อายุ15-24 ปี) และกลุ่มสูงอายุ (อายุ60 ปีขึ้นไป) ชายดื่มมากกว่าหญิงในทุกกลุ่มอายุ ส่วนการดื่มหนักหรือดื่มแบบหัวราน้ำ ดื่มปริมาณมากในครั้งเดียว ผู้ชายจะดื่มหนักกว่าผู้หญิง กทม.มีสัดส่วนผู้ดื่มหนักมากกว่า ภาคอื่น ภาคใต้มีสัดส่วนผู้ดื่มหนักน้อยที่สุด โดยกลุ่มเยาวชนมีสัดส่วนผู้ดื่มหนักมากกว่ากลุ่มอายุอื่น เยาวชนที่ทั้งพ่อและแม่ดื่มแอลกอฮอล์และเยาวชนที่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเยาวชนที่ทั้งพ่อและแม่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 1.94 เท่า และ 1.74 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่า ครัวเรือนที่มีสมาชิกดื่มสุราจะมีปัญหาการใช้ความรุนแรงหรือมีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวมากที่สุด รองลงมา มีปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ และมีปัญหาการใช้ความรุนแรงกับบุคคลนอกครัวเรือน การศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของประชาชนไทย พ.ศ. 2552 ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ หลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน การติดสุรา โรคเอดส์ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเสื่อมสมรรถนะทางเพศ ฯลฯ ที่เห็นผลกระทบชัดเจน คือ กลุ่มโรคทางระบบประสาทส่วนกลางและสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรควิกลจริต โรคลมชัก นอนไม่หลับ หูแว่ว ประสาทหลอน โรคซึมเศร้า กลัว หวาดระแวง ฯลฯ โดยการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 56 รองลงมา คือ บาดเจ็บ (ร้อยละ 23) และเป็นโรคตับแข็ง (ร้อยละ 9) ข้อมูลจาก รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคจิตเวชที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา พบว่า ในปี 2556 มีผู้ป่วยทางจิตจากการดื่มสุราเข้ารับการรักษาถึง 4,784 ราย และคาดว่ายังมีผู้มีแนวโน้มติดสุราจนต้องส่งมารักษาอีกเป็นจำนวนมาก หากไม่เข้ารับการรักษาและปล่อยให้อาการรุนแรงจะเป็นเหตุให้ก่อความรุนแรง เช่น เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ก่ออาชญากรรม ทุบตี หรือฆ่าผู้อื่นอย่างโหดร้ายได้ ดังนั้น ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหรือวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จึงถือเป็นโอกาสดีที่นักดื่มทุกเพศทุกวัยจะเริ่มต้นหันมางดหรือลดการดื่ม เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีและแข็งแรงของตนเองและคนในครอบครัว อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว ด้าน นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.สวนปรุง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการสำรวจระบาดวิทยาโรคจิตเวชของคนไทยที่มีอายุระหว่าง 15 - 59 ปี (ปี 2551) พบ มีผู้เข้าข่ายมีความผิดปกติในพฤติกรรมการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ (Alcohol Use Disorders) ร้อยละ 10.9 ในจำนวนนี้จัดเป็นกลุ่มใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด (alcohol abuse) ร้อยละ 4.2 และเข้าข่ายมีภาวะติดสุรา (alcohol dependence) ร้อยละ 6.6 และ ร้อยละ 7.1 มีปัญหาทั้งจากการดื่มสุราและปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคอารมณ์แปรปรวน โรควิตกกังวล โรคจิตเภท ซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและการใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่า หากไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์ การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จจะลดลง ระหว่าง ร้อยละ 16 - 41 สำหรับแนวทางการสังเกตบุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเริ่มติดสุรา รอง ผอ. รพ.สวนปรุง แนะให้สังเกตว่ามีอาการ 3 ใน 7 อย่างนี้หรือไม่ ได้แก่ 1.ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม 2. มีอาการร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม 3.ควบคุมการดื่มไม่ได้ 4. มีความต้องการอยู่เสมอที่จะเลิกดื่มหรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ 5.หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรา 6.มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ และ 7.ยังคงดื่มอยู่ทั้งๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งหากสังเกตพบได้เร็ว ก็จะยิ่งช่วยผู้ติดสุราให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ติดสุราที่ต้องการหยุดหรือลดปริมาณการดื่มลง จำเป็นต้องมีการจัดการที่ถูกวิธี เพราะหากหยุดหรือลดปริมาณการดื่มลงอย่างกะทันหัน สมองที่เคยถูกกดการทำงานจะปรับไม่ทันหรือเกิดอาการตีกลับ โดยจะมีอาการแสดงที่รุนแรงขึ้นเป็นระยะๆ คือ 6-12 ช.ม. แรก หลังหยุดดื่ม จะมีอาการมือสั่น ตัวสั่น หงุดหงิด อาเจียน ปวดศีรษะ ซึมลง หลัง 24 ช.ม. หรือ 1 วัน จะเริ่มสั่นมากขึ้น กระสับกระส่าย หัวใจเต้นแรง เหงื่อออกมาก ความดันสูง หูแว่ว ประสาทหลอน กลัว หวาดระแวง และ หลัง 48-72 ช.ม. หรือ 2-3 วัน อาจเกิดอาการลงแดง ชักแบบลมบ้าหมู อาเจียน ท้องเสีย มีไข้สูง หูแว่ว หรือเห็นภาพหลอนมากขึ้น มึนงง สับสน บางรายที่มีอาการรุนแรงและมา รพ. ไม่ทัน อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น วิธีลด ละ เลิก สุราที่ปลอดภัย คือ การขอรับบริการปรึกษาในหน่วยงานที่ให้บริการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มสุรา หรือสายด่วนเลิกเหล้า 1413 หรือโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกแห่ง หรือ โทรศัพท์ปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชม.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ