จับตาการเลือกตั้งอินโดนีเซีย เสถียรภาพการเมืองหลังเลือกตั้งอาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนใจทิ้งไทยไปทุ่มเงินแดนอิเหนาแทน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 16, 2014 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (Mr.Amonthep Chawla, Head of Research Office, CIMB Thai Bank) กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ในแง่ความเสี่ยงนั้น กล่าวได้ว่า หลังการเลือกตั้งจบลง อินโดนีเซียจะกลายเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มนักลงทุนที่กำลังพิจารณาว่าจะเลือกไทยหรืออินโดนีเซียในการขยายฐานการผลิตหรือเป็นศูนย์กลางการผลิต (hub) ในอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น หากการเมืองอินโดนีเซียมีแนวโน้มเสถียรภาพหลังจากนั้น จะยิ่งเป็นตัวแปรเปรียบเทียบที่เพิ่มความได้เปรียบมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ไทยนับว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นถนน หรือท่าเรือ ทว่า หากไทยไม่สามารถลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น อินโดนีเซียจะก้าวทันและล้ำหน้าไทยในไม่ช้า โดยเฉพาะการที่นักลงทุนต่างชาติเองก็มีแผนย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนมีแผนธุรกิจที่เรียกว่า ประเทศไทยบวกหนึ่ง (Thailand plus one business model) ที่มีการเตรียมโยกย้ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง (labor-intensive industries) ออกจากประเทศไทยไปยังประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญทั้งปัญหาน้ำท่วมและความไม่สงบทางการเมือง แม้ประเทศไทยจะสามารถบรรเทาหรือแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ในระยะยาวประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่สูง อันเป็นอุปสรรคในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียกำลังมีสัดส่วนคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมใช้แรงงานมากแล้ว ยังจะเป็นผลดีต่อการริเริ่มนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกด้วย “ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ผู้ผลิตไทยยังอาศัยเทคโนโลยีไม่สูงในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ อาทิ ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาเทคโนโลยี และปัจจัยสำคัญก็คือเงินลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น หนึ่งในภารกิจหลักของรัฐบาลก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนักลงทุนต่างชาติ และบริษัทในประเทศ โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง” นายอมรเทพ กล่าว นอกจากนี้ อาจมองได้ว่าการเลือกตั้งของอินโดนีเซียก็เป็นโอกาสของไทย หากการเมืองอินโดนีเซียนิ่งก็จะเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างกันและการส่งออกของไทยไปอินโดนีเซีย ซึ่งอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทไทยทั้งรายใหญ่และรายกลางที่วางแผนจะขยายตลาดไปอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศเป้าหมายที่น่าลงทุน เป็นฐานการผลิตที่ดีของบริษัทที่จะผลิตสินค้าเพื่อลูกค้าชาวอินโดนีเซีย หรือผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลก ด้านภาคการเงินก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินรูเปียห์ เมื่อการเมืองนิ่งค่าเงินน่าจะนิ่งตาม ซึ่งค่าเงินที่มีเสถียรภาพมากขึ้นจะสร้างความน่าสนใจให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนของทั้งอินโดนีเซียเองและต่อภูมิภาค และไทยเองก็จะได้รับความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน “ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ระหว่าง Jokowi หรือ Prabowo ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมของอินโดนีเซีย ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะปิดฉากลงหลังการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งจะสิ้นสุดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียด้วยประชากรมากกว่า 250 ล้านคนจะยิ่งเย้ายวนในสายตานักลงทุนข้ามชาติ” นายอมรเทพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ