การสรรหาเป็นบ่อเกิดของการทุจริต

ข่าวทั่วไป Tuesday July 22, 2014 09:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ที่ให้สรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแทนการเลือกตั้งนั้น กระบวนการสรรหานี้จะเป็นที่มาของการทุจริตประพฤติมิชอบได้ จึงเป็นสิ่งที่พึงระวัง ทั้งนี้ในประกาศฉบับดังกล่าวระบุ "ให้ใช้วิธีคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้และความสามารถด้านการบริหารงานท้องถิ่น การคลังท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่น การอนามัยและสาธารณสุข กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น โยธาธิการ ผังเมือง หรือโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นสมควร โดยอย่างน้อยสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมดต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทั้งนี้ให้คำนึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกด้วย" ข้อคิดเห็นสำคัญคือ 1. การที่สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการนั้น เท่ากับเป็นการให้ข้าราชการประจำครอบงำท้องถิ่น ระบบตรวจสอบก็จะเสียหายเพราะข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองนั้นเป็นระบบการถ่วงดุลกันและกัน 2. ระบบการสรรหาที่ว่าให้เน้นคุณธรรมและความซื่อสัตย์นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ไม่อาจพิสูจน์ได้ อาจมีการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นคนใกล้ชิดและเกิดการซื้อขายตำแหน่งได้ง่ายกว่าการ "ซื้อเสียง" (ถ้ามี) ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินจำนวนมากกว่ามหาศาลในการซื้อ 3. อาจสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนแทนที่จะเกิดความปรองดองหากการสรรหานั้นไม่มีความเป็นธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวก ขาดการตรวจสอบ 4. การสรรหา ไม่ใช่วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตย แม้การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตยแต่หากไม่มีการเลือกตั้งก็แสดงว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ปกติราชการส่วนกลาง ก็ควบคุมดูแลภูมิภาคต่าง ๆ โดยราชการส่วนภูมิภาคหรือสาขาของราชการส่วนกลางอยู่แล้ว หลักการสำคัญในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นก็คือ การให้ประชาชนได้มีส่วนบริหารเอง โดยข้าราชการประจำเป็นเพียงผู้รับสนองนโยบายของประชาชน ไม่ใช่เป็น "นาย" ของประชาชนเสียเอง ตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับเป็นแบบอย่างการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จะพบเห็นในประเทศยุโรปและอเมริกา โดยแต่ละปี ดร.โสภณ พรโชคชัยได้พบคณะข้าราชการและภาคเอกชนไปดูงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เช่นในเขต (County) วาร์ชู มลรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ที่นั่นผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง และแม้แต่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินก็มาจากการเลือกตั้งโดยมีเพียงเจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกจ้างหรือข้าราชการประจำเป็นผู้ทำงาน และแม้แต่หัวหน้าฝ่ายการศึกษา หัวหน้าฝ่ายอื่น ๆ ในเขตจังหวัดหรือเทศบาล ก็ล้วนมาจากการเลือกตั้ง ข้าราชการประจำไม่สามารถมาบริหารได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ