2 เทคโนโลยีทางชีวภาพ พิชิตปัญหาผู้ประกอบการไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 23, 2014 11:14 —ThaiPR.net

Bangkok--23 Jul--ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ 3 – 4 กรกฎคม 2557 ณ จ. เชียงใหม่: ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมกระบวนการหมักผักกาดดองเปรี้ยวด้วยต้นเชื้อบริสุทธิ์ ณ บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ที่รู้จักในตรา “นกพิราบ” พร้อมเข้าชม สวนส้มเอ็ม เค ณ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ที่ใช้ต้นส้มปลอดโรคที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากไบโอเทค ต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับหมักผักกาดดองเปรี้ยว ปัจจุบันการหมักผักกาดดองเปรี้ยวในระดับอุตสาหกรรมยังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากยังคงใช้วิธีการหมักแบบธรรมชาติ คืออาศัยเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนมากับวัตถุดิบในการหมัก ส่งผลให้การควบคุมกระบวนการหมักทำได้ยาก และในบางครั้งอาจเกิดการหมักดองที่ไม่สมบูรณ์ และมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียจากกระบวนการหมักที่ล้มเหลว ไบโอเทค ร่วมกับ บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ “การคัดเลือกต้นเชื้อจุลินทรีย์แลคติกเพื่อใช้ในการหมักผักกาดดองเปรี้ยว”เพื่อคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพที่จะใช้เป็นต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับกระบวนการหมักผักกาดดองเปรี้ยวในระดับอุตสาหกรรม ดร. เวทชัย เปล่งวิทยา นักวิจัยไบโอเทค กล่าวว่า “จากการศึกษาวิจัยทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ การผลิตระดับกลางในถังหมัก และในสภาวะจริงของการหมักในระดับอุตสาหกรรม ไบโอเทคสามารถคัดเลือกต้นเชื้อจุลินทรีย์ผลิตกรดแลคติกที่มีศักยภาพที่จะใช้เป็นต้นเชื้อสำหรับการหมักผักกาดเขียวปลีเปรี้ยว ซึ่งพบว่าในกระบวนการหมักผักกาดดองเปรี้ยวด้วยต้นเชื้อบริสุทธิ์ของไบโอเทค มีระดับความเป็นกรดที่เหมาะสม และมีปริมาณกรดอินทรีย์โดยรวมสูงกว่าการหมักแบบธรรมชาติ และเมื่อทำการวัดความเป็นพิษจากสารประกอบเอมีนที่เกิดในประบวนหมักพบว่าน้อยกว่าการหมักแบบธรรมชาติ” คุณวิสุทธิ์ รัชตสวรรค์ กรรมการบริหาร บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด เล่าว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการจัดการความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากเชื้อก่อโรคในอาหารหรือสารอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก และได้รับความไว้วางจากจากผู้บริโภค ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งจากกลุ่มสินค้าประเภทผักกาดองกระป๋อง” คุณวิสุทธิ์ กล่าวเสริมว่า “ผักกาดดองเปรี้ยวที่ได้จากกระบวนการหมักที่ใช้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ของไบโอเทคนั้น ให้สมบัติทางประสาทสัมผัสเป็นที่ยอมรับโดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ และผ่านการประเมินในด้านลักษณะปรากฏ สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวม และยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ตามต้องการ และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค” นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมกับ สวทช. ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกผัก โดยร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่พัฒนาระบบการผลิตผักกาดเขียวปลีแบบปลอดสารพิษ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบผสมผสาน เพื่อผลิตผักกาดเขียวคุณภาพดีปลอดสารพิษ เพื่อขายและเป็นวัตถุดิบที่ดีเพื่อป้อนสู่โรงงาน เพื่อผลิตผักกาดดองกระป๋องต่อไป ส้มปลอดโรค จากปัญหาการระบาดของโรคส้ม เช่น “โรคกรีนนิ่ง” และ “โรคทริสเตซ่า” ทำความเสียหายร้ายแรงแก่พืช ในตระกูลส้มเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเช้ง ส้มโอ และมะนาว เป็นต้น โดยการระบาดของโรคเกิดจากการติดต่อทางกิ่งพันธุ์ และแมลงพาหะ ได้แก่เพลี้ยไก่แจ้ และเพลี้ยอ่อนส้ม ดังนั้นการป้องกันและควบคุมเชื้อก่อโรค กรีนนิ่ง และ ทริสเตซา ไม่ให้ทำความเสียหายต่อการผลิตส้มนั้น ต้องเริ่มจากการใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคในการปลูก การเลือกแปลงใหม่ที่ห่างไกลจากแหล่งปลูกส้มเดิม และการควบคุมปริมาณแมลงพาหะ ดร. ธราธร ทีรฆฐิติ นักวิจัยไบโอเทค กล่าวว่า “การสร้างต้นพันธุ์ส้มปลอดโรคนี้ เกิดจากการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยการนำส่วนยอด ที่มีความยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มาเพาะเลี้ยงในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อกระตุ้นให้แตกยอดจำนวนมาก หลังจากนั้นนำไปเพาะเลี้ยงในอาหารที่ชักนำให้ต้นพันธุ์มีการสร้างราก และมีการเจริญของลำต้นและใบอย่างสมบูรณ์ ก่อนการย้ายออกปลูกสู่โรงเรือนอนุบาลต้นกล้า และย้ายสู่แปลงปลูกต่อไป” ดร. ธราธร กล่าวเสริมว่า “ผลการตรวจสอบการติดโรคของต้นส้ม ไม่พบการติดโรคกรีนนิ่งและโรคทริสเตซ่าในต้นส้ม ดังนั้นการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการขยายพันธุ์ส้มปลอดโรค และเป็นการทางออกสำหรับเกษตรกรสวนส้มในอนาคต” คุณวีระชัย จงสุวรรณวัฒนา ผู้บริหารสวนส้มเอ็ม เค กล่าวว่า “ปัญหาโรคระบาดในไร่ส้มนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ อ. ฝาง สวนส้มได้ปิดตัวไปหลายที่ เนื่องจากปัญหาส้มติดโรค แต่ด้วยต้นส้มปลอดโรคที่ได้จากเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของไบโอเทคนี้จะช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาการติดโรคของส้มได้อย่างตรงจุด และในอนาคต สวนส้มเอ็ม เค มีแผนที่จะขยายพื้นที่การปลูกให้มากขึ้น อีกทั้งจะเชิญชวนเกษตรกรผู้ทำสวนส้มหันมาใช้ส้มปลอดโรคในการปลูก เพื่อให้ อ. ฝาง กลับมาเป็นพื้นที่ปลูกส้มคุณภาพดีของประเทศต่อไป” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อริสรา ศรีอุบล เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โทร.02-564-6700 ต่อ 3329 อีเมล์:arisara.sri@biotec.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ