กรมควบคุมโรค แถลงนโยบายยุติปัญหาเอดส์ ในไทย เน้นความยั่งยืนของการดำเนินงานฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 23, 2014 18:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--โฟร์ พี แอดส์ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงนโยบายยุติปัญหาเอดส์ในการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 20 (20th International AIDS Conference)ณ กรุงเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ในเวทีเสวนาหัวข้อ “Together with Thailand: We can end AIDS epidemic in Asia” พร้อมกันได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น องค์ความรู้กับเครือข่าย และนำเสนอผลการดำเนินงานด้านเอดส์ที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย “Ending AIDS” ของประเทศไทย และเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทย ที่ดำเนินงานด้านเอดส์ ให้ประสบผลสำเร็จไปสู่เวทีนานาชาติ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องมุ่งเน้นพื้นที่เป้าหมายกลุ่มประชากรหลัก และใช้มาตรการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลอย่างรอบด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยว่า มีแนวโน้มลดลง จากเดิมเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เคยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มากถึง 143,000 คน ขณะที่ในปี 2555 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงเหลือเพียงปีละประมาณ 9,000 คน และคาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมดประมาณ 464,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 20,000 คน โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 250,000 คน ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยล่าสุดที่ระบุว่าถ้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และต่อเนื่อง จะทำให้ปริมาณไวรัสในร่างกายมีน้อยมาก จนไม่สามารถแพร่โรคต่อไปได้ หากผสมผสานกับมาตรการการป้องกันอื่นๆ ที่ใช้อยู่เดิม จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงถึงร้อยละ 96 และการติดเชื้อใหม่จะลดลงเหลือปีละน้อยกว่า 1,000 ราย ภายในปี 2573 ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในทวีปเอเชียที่สามารถยุติปัญหาเอดส์ได้สำหรับการลงทุนของประเทศไทยในการที่จะยุติปัญหาเอดส์ จากผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนตามกลวิธีข้างต้นเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท ใน 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 9,000 ล้านบาท โดยผลตอบแทนจากการประหยัดค่าใช้จ่ายของการรักษาในโรงพยาบาล ค่ารักษาและผลผลิตจากการทำงาน และช่วยป้องกันการติดเชื้อฯรายใหม่ได้ประมาณ 20,000 คน และลดการเสียชีวิตจากเอดส์ได้ประมาณ 22,000 คน คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอต่อมาตรการยุติปัญหาเอดส์และสนับสนุนการขยายขอบเขตของกองทุนด้านการดูแลรักษาเอดส์ให้ครอบคลุมถึงงานด้านการป้องกันเพื่อดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 1. การส่งเสริมให้ประชาชนทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มประชากรหลักสำคัญ คือ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย พนักงานบริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติดแบบฉีดได้เข้าถึงบริการการป้องกันผสมผสานและตรวจการติดเชื้อเอชไอวีครอบคลุมร้อยละ 90 และ 2. การให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ แต่เนิ่นๆ กับผู้ที่พบผลเอชไอวีเป็นบวกทุกรายโดยไม่คำนึงถึงระดับภูมิคุ้มกัน และต้องมีระบบสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อฯ กินยาสม่ำเสมอ นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเอดส์สามารถติดต่อได้โดย 1. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโรคเอดส์ โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าชายกับหญิง ชายกับชาย หญิงกับหญิง ล้วนมีโอกาสติดเชื้อได้ และปัจจัยที่ทำให้มีการติดเชื้อได้มากขึ้น คือ การมีบาดแผลฉีกขาดระหว่างร่วมเพศ หรือการมีแผลจากกามโรคอยู่เดิม2. การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ผู้หญิงสามารถติดเชื้อเอดส์ได้จากสามี คู่รัก คู่นอน หรือพฤติกรรมเสี่ยงของตนเอง พบว่าการติดเชื้อเอดส์ในหญิงมีครรภ์ สามารถถ่ายทอดให้ทารกได้ ในขณะนี้มีวิธีป้องกันการแพร่ เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกได้โดยการกินยาต้านไวรัส ในระหว่างตั้งครรภ์ไปจนคลอด สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์ได้3. การรับเชื้อทางเลือด พบได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ มักพบในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น และกรณีที่ 2 รับเลือดในขณะผ่าตัดหรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด แต่ในปัจจุบันเลือดที่ได้รับบริจาคมีการตรวจคัดกรองและมีความปลอดภัย “กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดการบริการให้ประชาชนหรือวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี ได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือกลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พร้อมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาหากสงสัยว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดโรค และสามารถติดต่อรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในกรณีที่พบเชื้อเอชไอวี ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.aidsstithai.org หรือ www.lovecarestation.com, www.teenpath.com, www.thaiyouths.org หรือทาง Call center 1330 กด 4, 0-2941-2320 ต่อ 181, 182 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ