ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นบวก จากการแลกหุ้นกับบริษัทซีทีเอช

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 25, 2014 16:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM เป็นบวกจากแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทฯ ในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ GMM จะทำการแลกหุ้นบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก (Pay-TV) กับหุ้นของบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ CTH ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทีวีบอกรับสมาชิกชั้นนำของประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกของ GMM สะท้อนถึงความเสี่ยงของบริษัทจากธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกที่ลดลงจากการแลกหุ้นดังกล่าว และสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น หลังจากบริษัทไม่ต้องรวมธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกเข้ามาในงบการเงิน ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การแยกธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกออกจากงบการเงิน ฟิทช์มองว่าการแลกหุ้นดังกล่าวเพื่อลดการแบกรับภาระขาดทุนจากทีวีบอกรับสมาชิกเป็นผลดีต่อ GMM โดยธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกของ GMM จะถูกรวมเข้ากับการดำเนินงานธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกของ CTH และหลังจากการแลกหุ้น GMM จะถือหุ้น 10% ใน CTH การแลกหุ้นในครั้งนี้จะส่งผลให้ธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกถูกแยกออกจากงบการเงินของ GMM สถานะทางการเงินคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น การแลกหุ้นครั้งนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทจากธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก และช่วยให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นการใช้ทรัพยาการทางการเงินและการบริหารในธุรกิจทีวีดิจิตอลได้เต็มที่ ฟิทช์คาดว่ากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ GMM จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 เนื่องจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับทีวีบอกรับสมาชิกที่ลดลง ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนการดำเนินงานที่เป็นเงินสด (700-800 ล้านบาท) และเงินลงทุนในการซื้อรายการโทรทัศน์ (600-1,000 ล้านบาท) ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงนี้น่าจะสูงกว่ารายได้จากการบอกรับสมาชิกที่สูญเสียไป (1,000-1,200 ล้านบาท) ความท้าทายของธุรกิจทีวีดิจิตอลที่ยังคงอยู่ การแลกหุ้นครั้งนี้น่าจะช่วยให้แนวโน้มอัตราส่วนหนี้สินของ GMM ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (Funds Flow from Operation Adjusted Net Leverage) น่าจะลดลงเหลือต่ำกว่า 3.5 เท่าในปี 2558 และ 2559 จากที่คาดการณ์ ณ สิ้นปี 2557 ที่สูงกว่า 5 เท่า อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ฟิทช์จะปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ GMM เป็น ‘A-(tha)’ GMM จะต้องมีกระแสเงินสดจากทีวีดิจิตอลที่แข็งแกร่ง และมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกบ่งบอกว่าเงื่อนไขข้างต้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสองปีข้างหน้า การเติบโตในธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ (Broadcasting) ทีวีดิจิตอลน่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้กับ GMM ในระยะปานกลาง บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลในช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 หลังจากบริษัทชนะการประมูลช่องทีวีดิจิตอลจำนวน 2 ช่อง ในเดือนธันวาคม 2556 โดยบริษัทวางแผนที่จะโอนย้ายรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่แพร่ภาพผ่านทีวีดาวเทียมไปยังระบบทีวีดิจิตอล และเพิ่มรายการใหม่อย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้จากค่าโฆษณา ค่าโฆษณาในระบบทีวีดิจิตอลที่คาดว่าจะสูงกว่าระบบทีวีดาวเทียมเนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า น่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทขยายตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจทีวีดิจิตอลอาจทำให้การแข่งขันด้านราคาสูงกว่าที่คาดไว้ อัตราส่วนกำไรลดลง กำไรของธุรกิจทีวีดิจิตอลที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะกดดันอัตราส่วนกำไรของ GMM ในปี 2557 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 และปี 2559 เมื่อรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของธุรกิจดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แปรผันตามรายได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อกำไรของบริษัท การลงทุนที่สูง ฟิทช์คาดว่าค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้กระแสเงินสดสุทธิของ GMM ติดลบ และจำกัดความคล่องตัวทางการเงินของบริษัทอย่างน้อยในช่วง 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามกำไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2558 น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทปรับตัวลดลง ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก - บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากธุรกิจทีวีดิจิตอลที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก (Positive free cash flow) และมีอัตราส่วน Funds Flow from Operation Adjusted Net Leverage ต่ำกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยลบ - กำไรและกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราส่วน Funds Flow from Operation Adjusted Net Leverage สูงกว่า 4.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ