“คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ”

ข่าวทั่วไป Monday July 28, 2014 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับระดับความสุขของคนในชาติ ภายหลังครบรอบ 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้ คสช. ยังคงดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป และรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.3 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อระดับความสุขของตนเอง ภายหลังจากครบรอบ 2 เดือน การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของ คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.48 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ ปัญหาความขัดแย้งความวุ่นวายต่าง ๆ ทางการเมืองสงบลง คนในชาติไม่ทะเลาะแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายกัน การเดินทางสัญจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ชาวนาได้รับเงินจำนำข้าว มีการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ เช่น การแก้ไขปัญหาทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน การจัดระเบียบสังคม เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 27.94 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ยังมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ยังใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่ ร้อยละ 4.94 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ ยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ข้าวของแพง เศรษฐกิจไม่ดี และได้รับความบันเทิงจากการรับชมสื่อโทรทัศน์ลดน้อยลง และ ร้อยละ 0.64 ไม่สามารถระบุได้ ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้ คสช. ยังคงดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป และรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.94 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น เป็นจุดเริ่มของการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และเป็นการลดทอนอำนาจของนักการเมืองเพื่อความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง รองลงมา ร้อยละ 11.23 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ มีบางมาตราที่ยังไม่เหมาะสม และควรมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ขณะที่ ร้อยละ 0.56 รู้สึกเฉย ๆ และ ร้อยละ 8.28 ระบุว่า ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 19.90 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.22 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.14 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 19.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 54.06 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 45.70 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.24 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 5.99 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 32.48 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 50.04 มีอายุ 40 – 59 ปี และ ร้อยละ 11.49 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 92.83 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 5.57 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 1.27 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 25.32 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.10 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 3.11 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 25.24 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.66 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.43 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.30 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.81 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 12.98 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.52 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.84 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.09 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.29 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 12.50 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 2.31 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 12.74 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.94 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.38 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.74 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 8.04 มีรายได้ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.92 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.25 ไม่ระบุรายได้
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ