สคร. 12 สงขลา ห่วง “โรคฉี่หนู” ระบาดหน้าฝน เตือนเลี่ยงลุยน้ำ ย่ำโคลน เผยใต้ตอนล่าง เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 29, 2014 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนระวังโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ช่วงฤดูฝน แนะประชาชนเลี่ยงการเดินย่ำโคลน-พื้นที่น้ำขัง เท้าเปล่า เผยปี 2557 ภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัดมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคฉี่หนูแล้ว 5 ราย ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักติดต่อกันเป็นช่วงๆ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือ “โรคฉี่หนู” ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน พบมากในจังหวัดที่มีการปลูกข้าว เนื่องจากต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ อาการของโรคคือมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาและน่องอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปนหรือตัวเหลืองตาเหลือง เนื่องจากเยื้อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้ “จากการรายงานสถานการณ์โรคฉี่หนูของกลุ่มระบาดวิทยา สคร. 12 สงขลา ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 สถานการณ์โรคฉี่หนูในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบรายงานผู้ป่วยแล้วจำนวน 139 ราย พบมากที่สุดที่จังหวัดสตูล 43 ราย รองลงมาคือจังหวัดยะลา พบผู้ป่วย 32 ราย และจังหวัดสงขลา พบผู้ป่วย 31 รายตามลำดับ เสียชีวิต 5 ราย ได้แก่ จังหวัดสงขลา 1 ราย จังหวัดยะลา 2 ราย และจังหวัดนราธิวาส 2 ราย” ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าว ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวต่อว่า การป้องกันโรคฉี่หนู นอกจากการกำจัดหนูซึ่งเป็นสัตว์แพร่เชื้อที่สำคัญแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขังหรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะโดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน หากแช่น้ำหรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายโดยทันที นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด และหากมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว และรับการรักษาอย่างจริงจัง หากล่าช้าอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันหรือการดูแลผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ