มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า : ยกระดับช่างตัดเย็บไทยพร้อมรับ AEC

ข่าวทั่วไป Thursday July 31, 2014 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC จะมีผลอย่างเต็มรูปแบบในปลายปี ๒๕๕๘ ที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อทำงานระหว่างประเทศสมาชิกได้ ในปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือระบบคุณวุฒิวิชาชีพมารองรับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ภาควิชาแฟชั่นและออกแบบเครื่องแต่งกาย จึงได้จัดทำโครงการวิจัย การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ขึ้นซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับคนในวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการห้องเสื้อชั้นนำ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในวงการตัดเย็บเสื้อผ้าและแฟชั่น ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันคุณวุฒิชาชีพ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อ 1) พัฒนามาตรฐานอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า โดยกลุ่มเจ้าของอาชีพ 2) พัฒนาการจัดระดับคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า โดยกลุ่มเจ้าของอาชีพ และ 3) เพื่อพัฒนาระบบการประเมินและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เริ่มต้นดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จนสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2557 โดยได้ดำเนินการศึกษาและดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ศึกษาการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ของอาเซียน 1 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆอีก 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ และประเทศออสเตรเลีย 2. ศึกษาการกำหนดความรู้ ความสามารถของบุคคลในสาขาอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้าของไทยและสากล 3. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนภาพหน้าที่งาน และจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขาอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า 4. จัดทำวิธีการและสร้างเครื่องมือ ในการประเมินสมรรถนะของบุคลากรตามแนวทางในมาตรฐานอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า 5. จัดทำกระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า 6. จัดสัมมนาประชาพิเคราะห์เพื่อฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ผลการจัดทำมาตรฐานอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ตลอด 10 เดือนจนจบโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ของทีมคณะทำงานที่มาจาก คณาจารย์และนักวิจัยของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพจากห้องเสื้อชั้นนำ และตัวแทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้มีการจัดแบ่งประเภทสาขาของมาตรฐานอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้าออกเป็น 8 สาขา ดังนี้ 1) การจัดการสินค้าเสื้อผ้า 2) ช่างแพทเทิร์น 3) ช่างตัดเสื้อผ้า 4) ช่างเย็บเสื้อผ้า 5) ช่างตกแต่งและเก็บรายละเอียด 6) ช่างรีดเสื้อผ้า 7) ช่างควบคุมคุณภาพและบรรจุงาน และ 8) ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า ในแต่ละสาขาของช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ได้มีการจัดระดับคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ออกเป็น5 ระดับคือ ระดับชั้นที่ 1 จนถึงระดับชั้นที่ 5 หลังจากนั้น จึงได้มีการจัดทำเครื่องมือประเมินสมรรถนะและวิธีการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า โดยนำรายละเอียดสมรรถนะย่อยไปกำหนดเครื่องมือและวิธีประเมินสมรรถนะ และนำเครื่องมือประเมินสมรรถนะไปประเมินสมรรถนะกับ สาขาอาชีพช่างเย็บเสื้อผ้า โดยได้จัดให้มีการประเมินระดับคุณวุฒิใน 3 ระดับชั้นด้วยกัน มีอาสาสมัครอยู่ในวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า สมัครเข้าเข้ารับการประเมินเพื่อทดสอบสมรรถนะของตนเองตามโครงการฯ ในสาขาช่างเย็บเสื้อผ้า ตั้งแต่ระดับชั้นที่ 1-ระดับชั้นที่ 3 รวมแล้วจำนวน 33 ท่านด้วยกัน โดยมีผลการประเมินดังนี้ 1) ผู้รับสมัครเข้ารับการประเมินเพื่อทดสอบสมรรถนะของตนเองในสาขาช่างเย็บเสื้อผ้า ระดับชั้น 1 จำนวน 11 คน และผ่านการประเมินทั้งหมด 11 คน สำหรับระดับชั้นที่ 2 มีผู้เข้ารับการประเมินจำนวน 11 คน มีผู้รับการประเมินผ่านการประเมินจำนวน 10 คน ไม่ผ่านจำนวน 1 คน และ ในระดับชั้นที่ 3 มีผู้เข้ารับการประเมินจำนวน 11 คน ผู้รับการประเมินผ่านการประเมินทั้งหมด 11 คน ท่านผู้ประกอบการในธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างตัดเย็บอิสระ และ ผู้สนใจในวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า สามารถเข้ามาศึกษาและติดตามและ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้าเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaivqtailoranddressmaker.org
แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ