พระจอมเกล้าลาดกระบัง โชว์ประดิษฐกรรมสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ รุกเข็นเด็กไทยหลังพบไอคิวด้านวิทย์รั้งท้ายเอเชีย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 13, 2014 15:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชูนวัตกรรมยกระดับการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย โดยการผลิตเครื่องออสซิลโลสโคป (Oscilloscope) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์เป็นเครื่องแรก ที่คิดค้นขึ้นโดยคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ สจล. เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย แก้ไขปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ของเยาวชน ที่ยังคงอยู่ในอันดับรั้งท้ายของประเทศกลุ่มเอเชีย ดังผลสำรวจจากโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่พบว่า ผลการทดสอบวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน โดยมีระดับคะแนนอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศในกลุ่มเอเชีย นอกจากนี้ ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ ยังพบปัญหาด้านการขาดสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่จำเป็น เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ เครื่องออสซิลโลสโคปที่ สจล. ผลิตขึ้น จึงเปรียบเสมือนอุปกรณ์นำร่องในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ทาง สจล. ได้มีแผนในการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ประเภทอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคตด้วย อาทิ เครื่องวัดกรดด่างแบบดิจิตอล ชุดฝึกการเรียนรู้ไมโครคอนโทรลเลอร์ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ โดยคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนไทย สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนของสื่อประกอบการเรียนการสอน และมีช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศได้ราวๆ 10-20 เปอร์เซ็นต์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th รองศาสตราจารย์วิชิต ศิริโชติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยผู้พัฒนานวัตกรรมเครื่องออสซิลโลสโคป กล่าวว่า สจล. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการศึกษา และช่วยยกระดับการศึกษาของไทย เพื่อให้นักเรียนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ ดังตัวอย่างนวัตกรรมเครื่องออสซิลโลสโคป ซึ่งเป็นเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยแสดงผลรูปคลื่น โดยใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาฟิสิกส์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนั้นยังสามารถใช้เป็นเครื่องแสดงผลเครื่องมือวัดบางชนิดอีกด้วย นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถต่อยอดพัฒนาเพื่อนำไปผลิตและจัดจำหน่ายได้จริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากเดิมที่ต้องมีการนำเข้าเครื่องมือชนิดนี้จากต่างประเทศ โดยมีต้นทุนประมาณ 15,000 บาท เมื่อคนไทยสามารถผลิตเครื่องออสซิลโลสโคปได้เอง ทำให้ต้นทุนลดลงเหลือประมาณ 1,500 – 2,000 บาทต่อเครื่องเท่านั้น จึงถือเป็นต้นแบบของนวัตกรรมด้านการศึกษาที่มีส่วนช่วยยกระดับขีดความรู้ความสามารถให้กับนักเรียนไทย ทั้งนี้ สจล. ได้วางแผนการพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษารูปแบบอื่นๆ ในอนาคตเพิ่มเติมอีก อาทิ เครื่องวัดกรดด่างแบบดิจิตอล ชุดฝึกไมโครคอนโทรลเลอร์ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งผลงานทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ สจล. ในปีนี้ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะรากฐานด้านการศึกษาที่นับเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทยเช่นกัน นายสุพจน์ ชุณหะเพศย์ ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนหอวัง ตัวแทนครูที่เข้าร่วมฝึกอบรมโครงการฯ กล่าวเสริมถึงความต้องการอุปกรณ์สำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ว่า สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย นับว่ามีความจำเป็นและความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ซึ่งนอกจากเสริมสร้างความสนใจในการเรียนแล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหา และได้เรียนรู้หลักการต่างๆทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ที่มักจะใช้เพียงเนื้อหาจากหนังสือในการสอน และเน้นการท่องจำเพื่อใช้ในการสอบ ทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่ไม่เพียงพอ เพราะขาดการลงมือทดลองหรือปฏิบัติจริง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยขาดทักษะในการคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น ในฐานะครู อาจารย์ ซึ่งมีหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน จึงมีความยินดีในการเข้าร่วมอบรมการใช้งานเครื่องมือออสซิลโลสโคป ที่ สจล. เป็นผู้คิดค้นขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งถือว่า นี่เป็นก้าวแรกในการพัฒนาระบบการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งจะมีส่วนในการผลักดันให้เด็กไทยรุ่นใหม่ๆ มีความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น นางสาวธิดาพร ทนวนรัมย์ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 4 จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ กล่าวว่า ในปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งการเรียนจะยกตัวอย่างภาพประกอบเนื้อหาจากตำราเรียน และสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้แค่ทฤษฎี และขาดทักษะการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายวิชาฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีทฤษฎีหลากหลาย ถ้ามีอุปกรณ์ที่เพียงพอมาช่วยเสริมการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้ทดลองและปฏิบัติจริง ใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ จะทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาบทเรียนนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น และยังช่วยให้รู้สึกสนุกกับการเรียน ทำให้เกิดความอยากเรียนรู้เนื้อหาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนทัศนะของนักเรียนที่รู้สึกว่าวิชาวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และน่าเบื่อได้อีกด้วย นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ