ปภ.รายงานเหตุอาคารถล่มจังหวัดปทุมธานี มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 25 ราย พร้อมเร่งประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย – กำหนดมาตรการป้องกันระยะยาว

ข่าวทั่วไป Friday August 15, 2014 17:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานกรณีเกิดเหตุอาคารถล่ม ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย พร้อมประกาศยุติการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร แต่ยังปฏิบัติการรื้อถอนซากอาคาร ซึ่ง ปภ.จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสงเคราะห์และเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและ ญาติผู้เสียชีวิตตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนในระยะยาวจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคาร เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์อาคารถล่มซ้ำรอย พร้อมพัฒนาทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดกลางให้สามารถตอบโต้เหตุฉุกเฉินระดับสูงสุดในทุกพื้นที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุอาคารถล่ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557 เวลา 16.25 น. ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นที่พักอาศัย ความสูง 6 ชั้น ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ว่า มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 25 ราย (รักษาตัวที่โรงพยาบาล 5 ราย) ขณะนี้ได้ประกาศยุติการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารแล้ว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 เวลา 23.30 น. เนื่องจากตรวจสอบพบผู้ประสบภัยครบหมดแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัย ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตของกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย หน่วยทหาร จังหวัด มูลนิธิ อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ยังคงระดมกำลังปฏิบัติการรื้อถอน ซากอาคารต่อไป สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคารถล่ม ผู้ประสบภัยที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินชดเชยของประกันสังคมตามสิทธิกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน กรณีบาดเจ็บได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกินคนละ 300,000 บาท เงินค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีหยุดงานเพื่อรักษาตัว รวมถึงเงินชดเชยค่าทดแทนกรณีพักรักษาตัว กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพเป็นจำนวนเงินร้อยละ 60 ของค่าจ้างตามระยะเวลาใบรับรองแทพย์ พร้อมค่าฟื้นฟูสมรรถภาพจนสามารถกลับมาทำงานได้ สำหรับผู้เสียชีวิตจะได้รับเงิน ค่าจัดการศพรายละ 30,000 บาท และเงินสงเคราะห์ร้อยละ 60 ของค่าจ้างงวดสุดท้าย เป็นระยะเวลา 8 ปี หากเป็นแรงงานที่ไม่ได้ ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจังหวัดจะออกคำสั่งให้บริษัทที่เป็นนายจ้างจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าจัดการศพ เงินทดแทนจากการขาดรายได้ ตามสิทธิที่ได้รับจากกองทุนเงินทดแทนฯ ในส่วนของการกำหนดมาตรการป้องกันในระยะยาว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนดมาตรการ ด้านความปลอดภัยของอาคาร ทั้งการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างที่ครอบคลุมทั้งแบบแปลน วัสดุการก่อสร้าง วิศวกร ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมการก่อสร้าง การดูแลความปลอดภัยของคนงานในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์อาคารถล่มซ้ำรอย นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปภ.จะได้เร่งพัฒนาทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดกลาง (Medium USAR Team) ของหน่วยงานให้มีศักยภาพในการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงช่วยชีวิตผู้ประสบภัยอาคารถล่ม ทั้งนี้ จะได้นำเหตุการณ์อาคารถล่มมาถอดบทเรียน เพื่อให้สามารถตอบโต้เหตุฉุกเฉินระดับสูงสุดในทุกพื้นที่ รวมถึงสามารถปฏิบัติการร่วมกับ ทีมกู้ชีพกู้ภัยของต่างประเทศตามมาตรฐานสากล 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ