ไทยพัฒน์ จับมือ อิมเมจพลัส ตั้งบริษัท EAI ช่วยธุรกิจพัฒนากลยุทธ์ CSV

ข่าวทั่วไป Friday September 5, 2014 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สถาบันไทยพัฒน์ สถาบันไทยพัฒน์ และ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมกันจัดตั้งบริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Expert Aspect International: EAI) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจที่ต้องการพัฒนากลยุทธ์การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ กูรูด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก นับจากที่ ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘The Big Idea: Creating Shared Value’ ในฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เมื่อปี 2554 จนนำมาสู่การก่อตั้งเป็น Shared Value Initiative (SVI) ในปี 2555 เพื่อนำแนวคิด CSV ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ไปใช้ในองค์กรและทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ปัจจุบันมีที่ปรึกษาที่ได้รับการรับรองให้เป็น Shared Value Initiative Affiliate จาก SVI กว่า 57 แห่ง ที่ช่วยธุรกิจในการพัฒนากลยุทธ์ CSV อยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะที่เป็น Shared Value Initiative Affiliate ในประเทศไทย เห็นว่าการสร้างคุณค่าร่วมจะเป็นกลยุทธ์ที่ภาคเอกชนไทยให้ความสนใจนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ร่วมกับ อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านชุมชนสัมพันธ์ (Community Relations) การติดตามและบริหารประเด็น/ปัญหา (Issue Management) ที่มีผลต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ก่อตั้งบริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EAI ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจที่ต้องการพัฒนากลยุทธ์การสร้างคุณค่าร่วม โดยยกระดับจากการติดตามดูแลผลกระทบ (Impact) ในบริบทของ CSR มาสู่การสร้างคุณค่า (Value) ในบริบทของ CSV ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “ทิศทางการขับเคลื่อนเรื่อง CSR จากนี้ไป คงหนีไม่พ้นเรื่อง CSV ถือเป็นภาคต่อของ CSR-in-process ที่ขยายจากความรับผิดชอบในส่วนของการดูแลผลกระทบในเชิงลบ มาสู่การส่งมอบคุณค่าในเชิงบวก และเป็นวิธีการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน” ก่อนหน้านี้ มีธุรกิจที่นำเรื่อง CSV มาสื่อสารกับสังคมในเชิงภาพลักษณ์และการหวังผลทางประชาสัมพันธ์มากกว่าที่จะเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง บางธุรกิจนำเอาโครงการบริจาคหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก มาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น CSV ทั้งที่กิจกรรมในเชิง Philanthropy ดังกล่าว ไม่ได้จัดว่าเป็น CSV ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ดร.สุนทร คุณชัยมัง กรรมการผู้จัดการบริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น กล่าวถึงการก่อตั้งบริษัท EAI ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ว่า “Social issues ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบริษัท มักจะเกิดขึ้นจาก การไม่ปรับตัวเรื่องบริหารการความสัมพันธ์กับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในขณะที่สังคมมีการตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆมากขึ้น แต่กิจการบริษัทอาจจะรวมถึงองค์กรของรัฐด้วย ยังทำงานแบบเดิมๆ” ด้วยประสบการณ์ของ อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น ในด้าน Community Relations และ Issue Management ที่มีมายาวนานกว่า 20 ปี ผนวกกับความเชี่ยวชาญของสถาบันไทยพัฒน์ในด้าน CSR-in-process ซึ่งได้กลายเป็นคำที่ธุรกิจใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยมีที่มาจากงานวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ จะเป็นการเสริมพลังให้แก่ เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ในการให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจที่ต้องการนำแนวคิด CSV มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมกัน คุณปาจารีย์ คุณชัยมัง หุ้นส่วนบริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงบทบาทของ EAI ว่า “ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังขยายการเติบโตและมีอัตราการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้นทาง EAI ได้มองเห็นโอกาสในการผลักดันและส่งเสริมกลยุทธ์การสร้างคุณค่าร่วมของธุรกิจ หรือ CSV ตามหลักสูตรต้นตำรับของศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ สู่องค์กรธุรกิจในประเทศไทย และยินดีให้คำแนะนำในการวางกลยุทธ์ภายใต้กรอบแนวความคิดนี้ เพื่อให้องค์กรนั้นได้ดำเนินธุรกิจตามหลักความเชี่ยวชาญของตนเอง ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว การพัฒนาของสังคมก็จะถูกยกระดับตามไปด้วย ทั้งนี้ผู้ก่อตั้ง EAI ทุกคนเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นพัฒนางานในด้านนี้อย่างจริงจังและเป็นต้นแบบที่ดีในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ในอนาคต” บริษัท EAI ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า SVOI (Shared Value Opportunity Identification) จาก SVI มาช่วยองค์กรในการค้นหาและคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม เพื่อนำมาพัฒนาเป็นความริเริ่มด้าน CSV ที่เหมาะสมกับองค์กร สอดคล้องกับแง่มุมความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ พร้อมด้วยแนวทางการระบุผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศที่นำแนวคิด CSV ไปขับเคลื่อนในองค์กรจนถูกหยิบยกเป็นกรณีศึกษา เช่น โนวาร์ตีส (สวิตเซอร์แลนด์) เวสเทิร์น ยูเนี่ยน (อเมริกา) และบริษัทในกลุ่มคิริน (ญี่ปุ่น) สำหรับในประเทศไทย มีธุรกิจที่ได้นำเอาแนวคิด CSV มาประยุกต์ใช้กับองค์กรแล้ว อย่างเช่น บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ