เหตุ “อาหาร” จะหมดจากบ้าน“แม่ลามาน้อย”แม่ฮ่องสอน “กลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน” ไม่นิ่งดูดายชวน“บวชป่า”สร้างคลังอาหาร

ข่าวทั่วไป Wednesday September 10, 2014 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ในขณะที่มีข่าวน้ำท่วมในหลายๆ จังหวัด แต่ที่ชุมชนบนพื้นที่สูง ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่เดินทางลำบาก โดยเฉพาะหน้าฝน อาชีพหลักของชุมชนทำไร่หมุนเวียน ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชุมชนปกาเกอะญอ มีภูมิปัญญาด้านอาหาร ยา ผ้า บ้าน ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 880 ครัวเรือน อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสาละวิน ใกล้กับแม่น้ำสายน้ำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำยวม แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน ปัจจุบันพื้นที่ป่าต้นน้ำของแต่ละชุมชนถูกทำลายและเสื่อมสภาพไปจากอดีตจนเกิดเป็นความวิตกกังวลในบ้านเกิดของตนเอง ทำให้เกิดกลุ่มเยาวชนปกาเกอะญอรักบ้านเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อ “กลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน” ลุกขึ้นมาร่วมกันปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชน “กลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน” นำโดย นางสาวอำภา ธวัชวิฑูรย์(นุ้ย) วัย 23 ปี แกนนำ รวมด้วย นางสาวพิชญาภรณ์ พิมานกระสินธุ์(แอพ) วัย 17 ปี นางสาวพรรณี จารุวีรวรรณ(หมวย) วัย 17 ปี และเยาวชนจากบ้านห้วยมะโอ บ้านแม่ลามาน้อย บ้านห้วยกระต่าย บ้านปู่คำ บ้านซิวาเดอ เกือบสิบคน มาร่วมกันทำโครงการ “คนต้นกล้า ป่าต้นน้ำ วิถีปกาเกอะญอ” ในโครงการปลูกใจรักษ์โลกปี 2 ดำเนินงานโดยมูลนิธิกองทุนไทย สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เกิดผลสัมฤทธิ์จัดกิจกรรม “บวชป่า-ลำห้วย” จนเกิดกติกาการใช้ทรัพยากรในชุมชนร่วมกัน อาหารที่หายไปจากป่า เริ่มแรกกลุ่มของ “นุ้ย” สนใจเรื่อง “ป่า” เพราะป่าคือตัวเชื่อมเรื่องอาหาร กล้วยไม้ สุขภาพ มีการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนพบว่าเรื่องอาหารที่ได้จากป่าลดลง ใช้เครื่องมือสืบค้นข้อมูลเริ่มตั้งแต่ในอดีตมีอาหารในป่ากี่ชนิด ในแต่ละฤดูกาลมีอะไรบ้าง ปัจจุบันอะไรที่ลดลงไป มีการสำรวจการกินอยู่และการใช้จ่ายในครัวเรือนเสริมกันไปด้วย พบว่าอาหารในชุมชนที่กินกันเป็นประจำกว่า 90 ชนิด ลดลงอย่างเห็นได้ชัด “พอได้ข้อมูลตัวนี้มา เราก็ชวนชาวบ้านจากแม่ลาน้อยทุกครัวเรือน กว่า 150 คนมาพูดคุยและจัดเป็นเวทีประชุมชาวบ้านขึ้นมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงทำให้ชาวบ้านมองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงเกิดเป็นมติร่วมของคนในชุมชนว่าน่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้กัน” นุ้ยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการบวชป่าและลำห้วยเพื่อรักษาแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชน ร่วมมือร่วมใจ เสียงจอแจจ๊อกแจ๊กเริ่มต้นในเช้าวันหนึ่ง ลุง ป้า น้า อา ลูก ๆ หลาน ๆ ในหมู่บ้าน แม่ลามาน้อย และเยาวชนกลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน รวมกันกว่าร้อยคนต่างคึกคัก เดินเท้าจากหมู่บ้านจูงมือกันเข้าไปร่วมกันทำกิจกรรมบวชป่าต้นน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำบริเวณเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ จัดพิธีบวชป่า 3 ศาสนา (พุทธ คริสต์ ถือผี) โดยมีนายบุญเกื้อ คุณาธารกุล นายอำเภอสบเมยเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมด้วย “นุ้ย – อำภา” แกนนำเผย “กิจกรรมบวชป่าทำให้ชาวบ้านได้มาแลกเปลี่ยนกัน ร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น หันมาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า เป็นความสำเร็จที่เรารู้สึกได้และมีความสุขที่ชาวบ้านเห็นด้วยกับการที่พวกเราเยาวชนมีบทบาทลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ที่สำคัญยังได้มีการตั้งกฏ กติกา ประจำหมู่บ้านออกมาอีกด้วย เช่น ถ้าใครตัดต้นไม้ในป่าที่บวช จะปรับ 500 บาท ครั้งที่สอง ปรับ 1,000 บาท “เราคิดว่าถ้าไม่มีกฏ ก็จะไม่เกิดผล นอกจากได้ร่วมกันบวชป่าแล้วยังได้บวชลำห้วยไปด้วยมีระยะประมาณ 500 เมตร มีกฏถ้าจับปลา 1 ตัว ปรับ 500 บาท ตัวที่สอง 1000 บาท” “ชาวบ้านเห็นด้วยกับกิจกรรมนี้ เพราะจากที่เราทำกิจกรรมเสร็จแล้ว เราไปสัมภาษณ์ความรู้สึก ความคิดเห็นชาวบ้าน เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะมีบางอย่างที่กำลังจะหายไป เช่น สัตว์บางชนิดที่ไม่เคยเห็นอีกแล้วในปัจจุบัน อาหารกลับคืนมา ผลจากการกระตุ้นให้ชาวบ้านแม่ลามาน้อยตระหนักเรื่องอาหารทำให้ตอนนี้ปัญหาบรรเทาลงชาวบ้านเริ่มแก้ปัญหาเฉพาะหน้า “เราทำผักลอยฟ้า เราหาของที่ปลูกง่ายอย่างหอมแดง ฟักทอง หน่อไม้ ชาวบ้านซื้อเยอะ ชาวบ้านก็เริ่มปลูกเองผสมผสานกับการปลูกข้าวไร่ ช่วงฤดูฝนมีผักเยอะไม่ค่อยมีปัญหาแต่พอหน้าหนาวผักน้อยลงก็หามาทดแทน ลดการซื้อของจากข้างนอกลงไปได้ การร่วมมือร่วมใจของชุมชนในการบวชป่าครั้งนี้ ถือว่าความภาคภูมิใจของน้องๆ เยาวชนกลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน ที่วันนี้แม้จะเห็นความสำเร็จแล้ว แต่ทั้งกลุ่มก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองต่อไป อนึ่ง โครงการปลูกใจรักษ์โลกปี 3 อยู่ในระหว่างคัดเลือกเยาวชนจากทั่วประเทศ เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีการทำกิจกรรม ฟื้นฟู ดูแล แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ ใน 5 ประเด็นปัญหา ได้แก่ 1).ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (สภาวะโลกร้อน) และมลภาวะทางอากาศ 2).ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ 3).ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4).ปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งน้้ำ 5).ปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน และจะมีการประกาศผลให้ทราบกันในเร็วๆ นี้ ติดตามได้ที่ www.scbfoundation.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ