มท.1 นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย หน.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผวจ. 19 จว. เหนือตอนล่าง – กลาง กรุงเทพฯ วางแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย - ภัยแล้งเชิงบูรณาการ

ข่าวทั่วไป Monday September 15, 2014 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ท่าจีน ในวันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2557 ณ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ประชุมวางแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย – ภัยแล้งเชิงบูรณาการครอบคลุมทั้งมิติการบริหารจัดการน้ำ และมิติการดูแลประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรมตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยึด พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผน ปภ.แห่งชาติ พ.ศ.2553 – 2557 เป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงาน รวมถึงใช้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเป็นช่องทางประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนให้ชี้แจงข้อมูลสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ท่าจีน ณ เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โดยมีนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดี กรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ท่าจีน ได้แก่ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา และผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพฯ ร่วมประชุมเตรียมพร้อมวางแผน กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงบูรณาการ ครอบคลุมทั้งมิติการบริหารจัดการน้ำ และมิติการดูแลประชาชน ที่ประสบภัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม ตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณฝน พบว่าช่วงปลายฤดูฝนปีนี้มีปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนถือเป็นปกติของสถานการณ์น้ำในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี โดยเป็นลักษณะของน้ำหลากลงสู่พื้นที่ลุ่มตอนล่างของประเทศ รวมถึงปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตราปกติ การระบายน้ำจะส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อีกทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามนโยบายเร่งด่วนของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรับมือ บริหารจัดการน้ำ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเชิงรุกครอบคลุมทุกมิติ โดยระยะเร่งด่วนให้กำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำร่วมกันดูแลรักษาสภาพคู คลอง ลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้มีความคล่องตัว ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือ ให้มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการระบายน้ำอย่างเหมาะสม เชื่อมโยงกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คำนึงถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ส่วนการปฏิบัติการให้สนธิกำลังทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหาร ภายใต้การบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมยึดพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 – 2557 เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมถึงแบ่งมอบภารกิจของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน เชื่อมโยงการปฏิบัติการเชิงรุกกับระดับพื้นที่ ทั้งนี้ ให้ใช้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเป็นช่องทางรับเรื่องราวร้องทุกข์และประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นศูนย์กลางในการเตรียมการป้องกัน แก้ไขปัญหาและประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สำหรับจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพเดิมและช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ