ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล ร่วมกับ UNDP ฉลองครบรอบ 5 ปีความร่วมมือ จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมให้สนามบินหลังเกิดภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 16, 2014 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ พนักงานกว่า 430 คนที่ปฏิบัติงานในสนามบิน 25 แห่งทั่วโลกได้รับการฝึกอบรมให้มีความพร้อมในการจัดการระบบลอจิสติกส์เพื่อรับมือหลังเกิดภัยพิบัติ ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล ผนึกสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) ฉลองวาระพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 องค์กรในการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมให้แก่สนามบินในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ด้วยการจัดฝึกอบรมและให้ความสนับสนุนพิเศษด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล และ UNDP ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมให้สนามบินหลังเกิดภัยพิบัติ หรือ "Get Airports Ready for Disaster" (GARD) ขึ้นในสนามบินต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง เพื่อสนับสนุนให้สนามบินดังกล่าวมีความพร้อมในการจัดการระบบลอจิสติกส์หลังเกิดภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและมนุษยชาติ เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น สนามบินจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบินและเกตเวย์ที่สำคัญในการลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยในภาวะวิกฤติ จะมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงสนามบินเพิ่มขึ้น มีญาติ ๆ ของผู้ประสบภัยเดินทางไปช่วยเหลือและให้กำลังใจจำนวนมาก มีองค์กรระหว่างประเทศจัดส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมด้วยสิ่งของไปให้ความช่วยเหลือ และมีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสภาวะที่เกิดขึ้นนี้ หากไม่มีการจัดการที่ดีและเหมาะสม จะทำให้การจัดส่งสิ่งของและอุปกรณ์ช่วยเหลือต้องประสบภาวะติดขัดและล่าช้า ขณะที่การกระจายการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยต้องประสบภาวะติดขัดและหยุดชะงัก ซึ่งในการจัดเวิร์คช็อปฝึกอบรมให้ความรู้ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสนามบินจากดีเอชแอลและผู้แทนของ UNDP ได้เข้าร่วมให้ความรู้และคำแนะนำแก่พนักงานที่ปฏิบัติงานในสนามบินและจากหน่วยกู้ภัยในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับแนวทาง การจัดการภาวะวิกฤติ ซึ่งประกอบด้วยการดูแลจัดการสิ่งของและพนักงานจากหน่วยงานช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เดินทางมาถึงสนามบินเป็นจำนวนมากหลังเกิดภัยพิบัติได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ การศึกษาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบโครงสร้างของสนามบิน รวมถึงการสูญเสียพนักงานและศักยภาพในการทำงานหลังการเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม การถล่มของพายุไต้ฝุ่นเฮอร์ริเคน หรือสึนามิ นอกจากนี้ การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้สนามบินรับมือภัยพิบัติ (หรือ GARD) ยังสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งประกอบด้วยพนักงานที่ปฏิบัติงานในสนามบิน และผู้แทนของหน่วยงานจัดการภัยพิบัติของภาครัฐได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ ตามที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำ ได้นำไปใช้ดำเนินการ รวมถึงการกำหนดขอบเขตและระยะเวลาในการจัดการภาวะฉุกเฉิน และกระบวนการดำเนินงานที่นำมาใช้ และที่สำคัญที่สุด คือ การประเมินศักยภาพของสนามบินแต่ละแห่ง ศักยภาพในการจัดเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย บุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ข้อกำหนดทางเทคนิค และการพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ GARD ได้จัดขึ้นในประเทศอาร์เมเนีย บังคลาเทศ เอล ซัลวาดอร์ อินโดนีเซีย เลบานอน เนปาล ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ ตุรกี และยังคงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเร็ว ๆ นี้ มีกำหนดจัดขึ้นในประเทศจอร์แดนภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ มีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมจนถึง ณ ปัจจุบันรวมประมาณ 430 คน คริสทอฟ เออร์ฮาร์ท รองประธานบริหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความรับผิดชอบระดับองค์กรต่อสังคม ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวว่า "จากการทำงานของทีมรับมือภัยพิบัติ (Disaster Response Team) หรือดีอาร์ที ทำให้ดีเอชแอลสั่งสมประสบการณ์ในการจัดการสถานการณ์วิกฤติมายาวนานหลายปี โดยการปฏิบัติงานของทีมดีอาร์ทีในพื้นที่โซนวิกฤติที่สนามบินต่าง ๆ ทำให้ดีเอชแอลตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันที่สมบูรณ์แบบได้โดยตรง และได้นำความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาโครงการ "ฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้สนามบินรับมือภัยพิบัติ" (Get Airports Ready for Disasters หรือ GARD) ร่วมกับ UNDP ในปี 2552 และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับที่ดีจากประเทศที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว" มาร์ธา รูเอดาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักป้องกันและฟื้นฟูวิกฤติของ UNDP กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีภัยพิบัติเกิดขึ้นหลายครั้งและได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้คนกว่า 5,000 ล้านคน และเมื่อพิจารณาจากความเสียหายดังกล่าว ทำให้การเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น และนี่คือสิ่งที่โครงการ GARD ได้ดำเนินการร่วมกับสนามบินต่าง ๆ" ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจากดีเอชแอล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรมโดยไม่คิดค่าบริการ พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์จัดฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ UNDP ซึ่งมีประสบการณ์การดำเนินงานอย่างกว้างขวางในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งได้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ มายาวนานหลายทศวรรษ จะเป็นผู้บริหารโครงการ GARD รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการฝึกอบรมดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ