ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 6,100 ล้านบาท “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ระดับ “A+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 18, 2014 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 6,100 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการลงทุนตามแผน อันดับเครดิต “A+” สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป ระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า และความต้องการเอทานอลที่แข็งแกร่งจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.3% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (15.5%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (9.3%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (8.0%) และกลุ่มวังขนาย (6.2%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ในระดับ 114.4 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 109.3 กก. ต่อตันอ้อยสำหรับปีการผลิต 2556/2557 บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.17 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลอยู่ที่ระดับ 126.8 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2556/2557 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวผลิตน้ำตาลได้ 0.04 ล้านตัน และในประเทศออสเตรเลีย (MSF) ผลิตได้ 0.56 ล้านตันในฤดูการผลิต 2556/2557 ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรจากการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 84,331 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 81% ของรายได้รวม รายได้ของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 33% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้ของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 41% รายได้ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังมีจำนวนไม่มาก โดยรายได้จากประเทศลาวมีสัดส่วนเพียง 1% ของรายได้รวม และรายได้จาก MSF มีสัดส่วน 6% นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจผลิตกระดาษ ณ เดือนมิถุนายน 2557 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 375.8 เมกะวัตต์ด้วย แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดลงทั่วโลก รายได้ของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยรายได้ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 44,788 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ปริมาณขายน้ำตาลของการดำเนินงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากธุรกิจ เอทานอลและไฟฟ้ารวมกันเพิ่มขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 6,598 ล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจน้ำตาลลดลงตามราคาน้ำตาลที่อยู่ระดับต่ำ นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนอ้อยสูงจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 19.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 จาก 22.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 9,544 ล้านบาทลดลง 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 11,333 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่รวมกันเติบโต 33% ช่วยบรรเทาการลดลงของกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาลที่ปรับตัวลง 67% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ยังคงอยู่ในระดับดีที่ 7.8 เท่าแม้ว่าราคาน้ำตาลจะอ่อนแอ อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 53.9% ณ เดือนมิถุนายน 2557 จากระดับ 49.0% ณ เดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการผลิต การขยายกำลังการผลิตขนาดใหญ่ของบริษัทได้แล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว ในปี 2557-2558 บริษัทจึงมีงบลงทุนปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2554-2556 ที่ผ่านมาที่บริษัทมีการซื้อสินทรัพย์และการลงทุนรวมจำนวน 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงชะลอตัวในช่วงอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบภาวะตกต่ำตามวัฏจักร แต่ภาระการลงทุนที่ลดลงน่าจะช่วยให้บริษัทรักษาระดับหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ในระดับที่ยอมรับได้ คาดว่าราคาน้ำตาลจะยังคงอ่อนแอในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำตาลคงเหลือจำนวนมากทั่วโลก The United States Department of Agriculture หรือ USDA ได้คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี 2556/2557 จะยังคงมีอุปทานน้ำตาลส่วนเกินทั่วโลก ซึ่งเป็นปีที่ 4 ที่ติดต่อกันที่เกิดภาวะน้ำตาลเกินดุล โดย USDA คาดว่าจะเกินดุลจำนวน 1.5 ล้านตัน สำหรับในฤดูการผลิต 2557/2558 USDA คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะผลิตน้ำตาลใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ 175.6 ล้านตัน โดยคาดว่าผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงในประเทศบราซิล จีน ปากีสถาน และไทย จะสุทธิกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักรโซเวียตเดิม และกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลคาดว่าจะเติบโตจากประเทศจีนและอินดีย หากเป็นไปตามนี้จะทำให้ปี 2557/2558 เป็นปีแรกในรอบ 5 ปีที่เกิดภาวะน้ำตาลขาดดุล โดย USDA คาดว่าน้ำตาลจะขาดดุลจำนวน 1.1 ล้านตันในปี 2557/2558 อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลคงเหลือที่มีอยู่จำนวน 45.5 ล้านตันตามประมาณการของ USDA จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC) อันดับเครดิตองค์กร: A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: MPSC14OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+ MPSC155B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+ MPSC156A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+ MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+ MPSC165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+ MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+ MPSC16OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+ MPSC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+ MPSC185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+ MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+ MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+ MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+ MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+ MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 6,100 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2567 A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ