“การเติบโตในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทย”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 18, 2014 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้การเชื่อมโยงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีเครือข่ายซับซ้อนมากขึ้นอันนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยหลายแห่งได้ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการลงทุนในต่างประเทศด้วยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อการขยายตลาดใหม่และการแสวงหาแหล่งทรัพยากรซึ่งนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือความอยู่รอดของธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำงานวิจัยเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยการสร้างฐานข้อมูลการลงทุนทางตรงในต่างประเทศทั้งในด้านเงินลงทุนและรายได้จากต่างประเทศโดยรวบรวมข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานอย่างเป็นทางการของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงปี 2549 – 2556 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าจำนวนบริษัทจดทะเบียนไทยลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก โดย ณ สิ้นปี 2556 มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนในต่างประเทศ 109 บริษัท ในจำนวนนี้ 36 บริษัทอยู่ในกลุ่ม SET50 ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2553-2555 เนื่องจากมีรายการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อซื้อกิจการในต่างประเทศเกิดขึ้นมาก ภูมิภาคเป้าหมายหลักของการลงทุนอยู่ในอาเซียนแต่บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่จะลงทุนในภูมิภาคที่ไกลออกไปนอกอาเซียนมากขึ้น รายได้จากต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยรายได้จากส่วนงานธุรกิจในต่างประเทศและรายได้จากการส่งออกเติบโตเฉลี่ยในอัตรา 10% ต่อปีในช่วงปี 2549-2556 โดยรายได้จากต่างประเทศของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มสินค้าเกษตร เติบโตสูงที่สุด 3 ลำดับแรกซึ่งสอดคล้องกับเงินลงทุนในต่างประเทศที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากที่สุด 3 ลำดับแรกในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่าศักยภาพการเติบโตในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ (SET100) กับบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็ก (Non-SET100) ใกล้เคียงกันโดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของสัดส่วนทางการเงินที่สะท้อนศักยภาพในด้าน 1) การให้ความสำคัญกับการลงทุนในต่างประเทศ 2) ความสามารถในการเติบโตของรายได้จากต่างประเทศ และ 3) ความเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศ ข้อสรุปสำคัญจากงานวิจัยคือบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวนมากมีฐานะเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีศักยภาพในการเติบโตในต่างประเทศ และเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนในต่างประเทศผ่านบริษัทจดทะเบียนไทยโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ แต่ในอนาคตบริษัทจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ความแตกต่างของความต้องการและวัฒนธรรมเมื่อลงทุนในภูมิภาคที่ไกลออกไป ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความขาดแคลนของทรัพยากรและบุคลากร บริษัทจดทะเบียนจะบริหารความซับซ้อนนั้นอย่างไร รวมถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารเรื่องที่ซับซ้อนกับนักลงทุน ในงานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน SCG และคุณกำธร ศิลาอ่อน รองผู้จัดการใหญ่ S&P ร่วมแสดงความเห็น โดยทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่าปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนในต่างประเทศคือ พันธมิตรทางธุรกิจที่ดีในต่างประเทศซึ่งอาจพัฒนามาจากคู่ค้า ในกรณีของ SCG เริ่มต้นธุรกิจในต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศก่อน เมื่อสินค้าเป็นที่ต้องการมากขึ้นจึงพัฒนาเป็นการลงทุนในต่างประเทศด้วยการซื้อกิจการเนื่องจากกิจการนั้นมีทั้งตลาดและฐานการผลิตพร้อมอยู่แล้วซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการสร้างฐานการผลิตและหาตลาดเอง ในกรณีของ S&P ธุรกิจร้านอาหารจะคุ้มทุนได้เมื่อมีจำนวนร้านที่มากพอเพื่อให้เกิด economy of scale การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอย่างยิ่งโดยพันธมิตรของ S&P มีศักยภาพสามารถสร้างแบรนด์ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ นอกจากนี้ทั้งสองท่านให้ความเห็นว่าการสนับสนุนของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะข้อมูลการลงทุน ข้อมูลพันธมิตรทางธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ อีกทั้งงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทยได้แก่ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศ การศึกษาศักยภาพการลงทุนในต่างประเทศของ supply chain ในแต่ละอุตสาหกรรม และการร่วมมือผลิตงานศึกษาด้านการลงทุนในต่างประเทศกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ