สคร.7 เตือนภัยพิษสุนัขบ้า

ข่าวทั่วไป Thursday September 18, 2014 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สคร.7 เตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 ก.ย. นี้ แนะป้องกันด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด หากถูกสุนัขกัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ายังน่าเป็นห่วง จำเป็นต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว และต้องขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยสอดส่องดูแลสุนัข แมว เนื่องจากระยะหลังพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าในคนมากกว่าสุนัขจรจัด ผู้ปกครองควรดูแลอย่าให้บุตรหลานไปเล่น หรือคลุกคลีกับสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกสุนัขกัด โดยอย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าหยิบจับ อย่ายุ่ง อย่าหยอก กับสุนัขแปลกหน้า เพราะอาจถูกกัด หรือข่วนได้ หากถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ใส่ยาใส่แผลสด และรีบไปพบแพทย์ รวมทั้งเฝ้าระวังสุนัขหรือแมวที่มากัดเป็นเวลา 10 วัน หากสัตว์ตายระหว่างดูอาการ ให้แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตัดหัวสุนัขส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า วิธีสังเกตอาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคน ระยะฟักตัวอาจสั้นมากคือไม่ถึงสัปดาห์ หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการในคนเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด แล้วอาการคันลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด โอกาสที่จะเจ็บป่วยหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือ ข่วนขึ้นอยู่กับ จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งบาดแผลที่ถูกกัดมีขนาดใหญ่ ลึกหรือมีบาดแผลหลายแห่งจะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้มาก ตำแหน่งที่ถูกกัดหรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือ บริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้าเชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย อายุของคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และ สายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่าจะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง การป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า คือ 1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ขณะที่เห่าบริเวณช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ 2. ปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด (อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 3.เมื่อถูกสุนัขกัดให้ล้างแผลให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ ส่วนสุนัขที่กัดให้ขังดูอาการเป็นเวลาอย่างน้อย10วัน โดยในวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก มีคำขวัญรณรงค์ในปี 2557 นี้ คือ ร่วมแรง ร่วมใจ ประเทศไทยปลอดโรค พิษสุนัขบ้า “โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อ และมีอาการแล้ว เสียชีวิตทุกราย ป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด คาถา 5 ย ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์ กัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ” ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนสำนักโรคติดต่อทั่วไปโทร0-5903177-78หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ